ลักษณกฎหมายระหว่างประเทศโดยย่อ/ส่วนที่ 1
- ส่วนที่ 1 ว่าด้วยทางไมตรี
- หมวดที่
- ว่าด้วยตั้งประเทศแลประเทศสิ้นชีวิตร
- ว่าด้วยอาณาเฃตรของประเทศ
- ว่าด้วยอำนาจของประเทศในเฃตรแดน
- ว่าด้วยเรื่องทูต
- ว่าด้วยชาติ
- ว่าด้วยเรือแลสลัด
- ว่าด้วยอำนาจซึ่งจะป้องกันตัว
- ว่าด้วยอินเตอ์เวนชั่น
- ว่าด้วยเอเยนต์ของประเทศซึ่งมีอำนาจพูดแทนประเทศ
- ว่าด้วยยศทูต
- ว่าด้วยเรื่องทหาร
- ว่าด้วยเรื่องทำหนังสือสัญญา
- ว่าด้วยการที่ตกลงข้อเถียงกันระหว่างประเทศไม่ถึงเปนศึกสงครามกัน
จะต้องกล่าวถึงเรื่องประเทศ แต่ก่อนนั้น จะต้องอธิบายว่า ประเทศนั้นคืออะไร? แปลว่า คนชาติเดียวกันฤๅหลายชาติ ต้องรวบรวมการงานไว้ด้วยกัน มีผู้ว่าการเปนสิทธิ์ขาด คือ เปนต้นประเทศเมืองไทยซึ่งมีชาติไทยบ้าง ชาติลาวบ้าง อยู่ในอาญาสิทธิ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อได้ตั้งขึ้นเปนประเทศแล้ว มีประเทศหนึ่งประเทศใดรับรองว่า ประเทศนั้นเปนประเทศตามกฎหมาย ก็วิธีที่จะรับรองนั้นก็มีหลายอย่าง แต่ธรรมดาเมื่อประเทศอื่นได้มาทำสัญญาไมตรีด้วย จึ่งเรียกว่า เปนประเทศอยู่ในกฎหมาย
แต่ในทวีปแอฟริกาเปนต้น มีคนชาติหลายชนิดเปนหมู่เล็ก ๆ กระจักกระจาย มีประเทศซึ่งได้ไปทำสัญญาแก่กันเหมือนกัน แต่ความคิดโดยจริงนั้นไม่ค่อยนับถือว่า เปนประเทศอยู่ในกฎหมายแท้ แต่ข้อที่ได้ทำสัญญาต่อกันแล้ว ต้องสันนิฐานว่า ได้ยอมนับถือเปนประเทศ แต่ถึงกระนั้นก็ดี เมื่อชาตินั้นไม่ได้ประพฤติตนถูกต้องด้วยกฎหมายต่างประเทศแล้ว ประเทศอื่น ๆ ไม่จำเปนต้องประพฤติกิริยาดังชอบธรรมตามกฎหมาย จะอ้างตัวอย่างเปนต้นเมื่อยี่ปุ่นกับจีนรบกัน พวกจีนต้องหาว่า ได้ฆ่าพวกทหารยี่ปุ่นซึ่งจับได้ ยี่ปุ่นร้องว่า จีนไม่ควรรับความชอบธรรมตามกฎหมาย
ในประเทศหนึ่งประเทศใด เมื่อได้มีขบถสงครามขึ้นแล้ว แลยังหาอาจสามารถที่จะปราบปรามการจุลาจลในแผ่นดินให้เรียบร้อยลงได้ ฝ่ายพวกซึ่งได้เปนขบถนั้นจะขอให้ประเทศอื่นรับรองว่า ตัวเปนประเทศใหม่ขึ้นได้ แต่จะต้องอยู่ในข้อบังคับซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้
๑ในระหว่างที่ต่อสู้กันอยู่โดยแขงแรงแล้ว ประเทศอื่นไม่ควรรับว่า พวกขบถนั้นเปนประเทศขึ้นใหม่
๒แต่เมื่อเจ้าฤๅนายได้ต่อสู้กับขบถไม่สันทัน เปนแต่คอยทีฤๅต่อสู้กันย่อท้อไม่สมกับการใหญ่แล้ว ประเทศอื่นมีอำนาจที่จะรับว่า พวกขบถนั้นเปนประเทศใหม่ขึ้น
๓แลประเทศซึ่งจะรับนั้นควรจะต้องมีเหตุซึ่งตนจำเปนต้องรับ เปนต้นคือ เมื่อไม่รับแล้ว การค้าขายจะดำเนินไม่สดวก เช่น ยุในเต๊ดสะเต๊ดในทวีปอเมริกา เมื่อพวกข้างใต้เกิดขบถขึ้นเมื่อคฤสตศักราช ๑๘๖๑ ในสามเดือน เจ็ดมณฑลได้แยกออกตั้งนายหน้าขึ้น มีอำนาจอันสิทธิขาดครบถ้วน แลได้จัดทหารขึ้นเพื่อจะรบ แลไม่มีข้อสงไสยว่า จะประพฤติตนผิดตามกฎหมาย แต่ฝ่ายข้างเหนือออกประกาศไม่ให้เมืองหนึ่งเมืองใดส่งเรือค้าขายกับฝ่ายใต้ซึ่งเปนขบถ คือ ปิดอ่าวเสียหมด (เรียกว่า บลอกเขต) อังกฤษเห็นดังนั้นจึ่งรับว่า ฝ่ายใต้นั้นเปนประเทศขึ้น (ประเทศฝ่ายใต้ภายหลังแพ้) แลในเรื่องเกาะคิวบาเดี๋ยวนี้ซึ่งเปนเมืองขึ้นอยู่ในประเทศสเปน เกาะคิวบาได้ขบถต่อประเทศสเปน ๆ ไม่สามารถจะปราบลงได้จนเดี๋ยวนี้ พวกขบถร้องให้นา ๆ ประเทศรับรองว่า เปนประเทศใหม่ขึ้น ในเมืองอเมริกาก็มีคนร้องที่จะให้รัฐบาลของตนรับว่าพวกขบถนี้เปนประเทศขึ้นมาก เพราะเหตุว่า เมื่อสเปนไม่อาจสามารถจะปราบพวกขบถได้แล้ว พวกอเมริกาไม่ควรจะยอมเสียหายในการค้าขาย
ข้อความมีเท่านี้เอง ประเทศอื่นไม่มีอำนาจที่จะนับถือแลอุดหนุนโจรผู้ร้ายในเมือง แต่เมื่อเขาได้รับว่า พวกขบถนั้นเปนประเทศขึ้นแล้ว พวกขบถนั้นไม่เปนโจรผู้ร้าย
เมื่อพวกขบถได้ตั้งขึ้นเปนประเทศแล้ว สัญญาต่าง ๆ ซึ่งได้มีแก่นา ๆ ประเทศก่อนขบถ ประเทศซึ่งตั้งขึ้นใหม่นั้นยังต้องอยู่ในข้อบังคับ คือ ข้อสัญญาซึ่งพูดถึงเรื่องซึ่งเกี่ยวดองในเฃตรแดนซึ่งแยกออกไปนั้น แต่ข้อสัญญาส่วนตัวของประเทศเดิมนั้นไม่เกี่ยวข้องด้วย แต่ในการเรื่องนี้เปนการเคลือบคลุมมาก
เมื่อประเทศหนึ่งประเทศใดได้สิ้นชีวิตร คือ เปนต้นมีคนอื่นเขามารบได้เปนเมืองขึ้น อำนาจฤๅน่าที่ตามสัญญานั้นต้องมอบไว้ในประเทศซึ่งรบได้ แต่ตามจริงนั้น เมื่อเปนอำนาจอันชอบธรรม ประเทศซึ่งได้รับได้นั้นเปนผู้ใช้อำนาจนั้นแทน แต่ในน่าที่ไม่เปนไปเสมอ เปนต้นคือ เมื่อฝรั่งเศสได้รบเอาเกาะมาดากัศกา ฝรั่งเศสไม่ยอมทำตามข้อสัญญาเรื่องกงสุลชำระความ (เรียกว่า เอกสตราเตรีตอเรียแอนริตี้)
แต่ในเรื่องเงิน คือ ได้เปนหนี้ ประเทศซึ่งตีได้นั้นต้องใช้แทน
อาณาเฃตรของประเทศนั้น คือ เฃตรซึ่งตัวได้ปกครอง
วิธีที่ประเทศหนึ่งประเทศใดจะได้อาณาเฃตรใหม่นั้น อย่างหนึ่งเรียกว่า จับจองเอาที่ซึ่งไม่มีคนอยู่ ฤๅที่ซึ่งไม่มีประเทศหนึ่งประเทศใดเปนเจ้าของ แลที่จับจองนี้ต้องมีอำนาจปกครองอยู่ เขาจึ่งจะนับว่า ได้จับจอง (ความคิดในเรื่องจับจองนี้เอากฎหมายโรมันมาใช้)
ในเรื่องนี้มีสัญญาต่าง ๆ ในทวีปยุโรป แลประเทศซึ่งอยู่ในทวีปยุโรปกับอเมริกา ซึ่งได้นั่งพร้อมกันที่เมืองเบอลิน ศักราช ๑๘๗๕ มีข้อสัญญาว่า ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งด้วยกันในนั้นแล้วจะจับจองที่ในทวีปแอฟริกา ต้องบอกแก่กันให้รู้
แดนต่อแดนในระหว่างประเทศนั้น กะกันโดยที่ขีดเส้นในแผนที่ก็มี แม่น้ำเปนเฃตรก็มี เมื่อแม่น้ำนั้นเรือเดินไม่ได้แล้ว เฃตรต้องอยู่กลางในระหว่างแม่น้ำ เมื่อแม่น้ำนั้นเรือเดินได้แล้ว ต้องเอาร่องน้ำเปนประมาณ (เรียกว่า ทัลเวก) เมื่อเฃตรแดนเปนเขาไปแล้ว ช่องน้ำไหลเปนเฃตรแดน (เรียก วอตเตอร์ดีไวต์)
เมื่อแม่น้ำเปนเฃตรแดนแล้ว ประเทศใดประเทศหนึ่งจะห้ามไม่ให้เรือเดินได้ฤๅไม่ ไม่ตกลงกันแน่ มีสัญญาระหว่างนา ๆ ประเทศในทวีปยุโรปอยู่อันหนึ่งซึ่งประชุมกันที่เมืองเวียนา เมืองหลวงแห่งประเทศออสเตรีย ตกลงว่า เมื่อแม่น้ำเปนเฃตรแดน ฤๅเมื่อเดินเลยไปถึงประเทศอื่น ไม่ให้ประเทศใดประเทศหนึ่งปิดแม่น้ำนั้นต่อนา ๆ ประเทศ แต่แม่น้ำใหญ่ ๆ ในทวีปยุโรปนั้นมักจะตกลงกันเปนส่วน
ทะเลจะเปนอาณาเฃตรได้ฤๅไม่ เมื่อก่อนนี้มีประเทศต่าง ๆ อ้างว่า ทะเลนั้น ๆ เปนของตัว แต่ไม่ค่อยมีใครรับรอง แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีใครอ้างว่า ทะเลเปนของใคร เพราะเหตุว่า ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ไม่มีประเทศอันใดอาจสามารถที่จะคุ้มครองมหาสมุทรได้ จึ่งเปนดังนี้ ทะเลเปนของประเทศนั้น นับตั้งแต่ฝั่งออกไปได้ ๓ ไมล์ คือ เฃตรซึ่งปืนจะยิงออกไปได้ แต่ปืนเดี๋ยวนี้ยิงได้ไกลกว่านั้น บางทีนา ๆ ประเทศจะร้องว่า อาณาเฃตรนั้นเกินกว่า ๓ ไมล์ออกไป
อาณาเฃตรซึ่งไม่เปนที่ดิน คือ เรือรบจะจอดฤๅจะเดินอยู่ที่ไหน ๆ ก็ดี ก็เปนพระราชอาณาเฃตรของประเทศนั้น เรือค้าขายซึ่งชักธงเปนอาณาเฃตรของธงนั้นในส่วนที่จะชำระความระหว่างคนซึ่งอยู่ในเรือเมื่อเวลาเดินอยู่ในทะเล
๑อำนาจที่จะตั้งคนฤๅฝูงคนขึ้นเปนเจ้าฤๅเปนนาย มีอำนาจอันสิทธิ์ขาดตามแต่ประเทศนั้นจะเห็นสมควร อำนาจซึ่งจะตั้งอยู่เปนประเทศ คือ
จะให้อำนาจปกครองประเทศนั้นอย่างไรอย่างหนึ่งตามแต่ประเทศจะเห็นสมควร ประการหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมีอำนาจอันสิทธ์ขาด (เรียกว่า แอบสลุตมอนนกี้) คือ เมืองไทย, เมืองจีน, เมืองรัสเซีย, เปนต้น ประการที่สอง พระเจ้าแผ่นดินมีที่ปฤกษา ทั้ง ๒ อย่างรวมกัน จึ่งมีอำนาจสิทธิ์ขาด (⟨เ⟩รียกว่า ลิมิตเต็ดมอนนกี้) เปนต้นคือ เมืองอังกฤษ เมืองออสเตรีย เมืองอิตตาลี เมืองสเปน เมืองโปรตุเกศ เมืองยี่ปุ่น เมืองเบลเยี่ยม ⟨เ⟩มืองเดนหมาก เมืองคริก เมืองฮอลันดา แลเมืองไทยในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่อยู่ ประการที่สาม ราษฎรตั้งกันเองขึ้นว่าการสิทธิ์ขาดแทนราษฎร ผู้ซึ่งได้รับตำแหน่งนั้นเรียกว่า เปรสิเดน อำนาจสิทธิ์ขาดอยู่ในราษฎร จะตั้งเมื่อไร จะเลิกเมื่อไร ได้หมด (เรียกว่า ริปับลิก) คือ ประเทศฝรั่งเศส เปนต้น ประการที่สี่ (เรียกว่า คอนเฟกเดอเรชั่น) คือ ประเทศหลายประเทศรวมกันตั้งนายแลที่ปฤกษาอันหนึ่งซึ่งมีอำนาจบังคับบัญชาประเทศซึ่งได้รวมอยู่ในนั้น คือ ยุในเต๊ดสเตดออฟอเมริกา, สวิดเซอร์แลนด์ แลเยอรมัน ตละที่ได้รวมกันนี้มีอำนาจที่จะว่าการอะไรได้หมดในกิจของตน เว้นแต่จะได้สัญญากันไว้ยกอำนาจให้แก่เจ้าฤๅนายซึ่งครอบครองทั้งหมด
๒อำนาจที่จะทำอะไรต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในประเทศนั้น มีเก็บภาษี แลเพิ่มทหาร ฤๅตั้งกฎหมายบังคับราษฎร เปนต้น ซึ่งประเทศอื่นไม่มีอำนาจจะร้อง
๓คนต่างประเทศในเวลาที่อยู่ในประเทศหนึ่งประเทศใดซึ่งจะไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชานั้น คือ พระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศซึ่งได้เสด็จมาประพาศ แลกองทัพเมืองอื่น แลทูต ที่ว่า ไม่ได้อยู่ในข้อบังคับของประเทศนั้น ๆ เรียกว่า อำนาจเอกสตราเตรีเตอเรียแอนลิตี้ แต่เมื่อพระเจ้าแผ่นดินได้อยู่ในประเทศใดโดยนอกน่าที่ เรียกว่า เปนคนธรรมดา (คือ อินขอกนิโต) ดูเหมือนว่า จะต้องอยู่ในบังคับเขา แต่อย่างไรก็ดี เมื่อได้ไปโดยน่าที่พระเจ้าแผ่นดินฤๅมิใช่ ไม่มีอำนาจที่จะปกครองโจรผู้ร้ายฤๅกระทำโทษผู้ร้ายในอาณาเฃตรของเขา แลเขามีอำนาจที่จะไล่ออกเสียจากอาณาเฃตรได้
๑ประเทศไม่มีอำนาจที่จะชำระทูตได้ในความอาญา แลไม่มีอำนาจที่จะจับกุม เมื่อได้ทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว เปนน่าที่รัฐบาลที่จะขอให้เขาเรียกกลับเสีย แลในเรื่องความแพ่งก็ดี ไม่ปรากฎว่าจะออกหมายถึงเขาได้ฤๅไม่ แต่สงสัยว่า ไม่ได้ เพราะเหตุว่า ไม่มีอำนาจบังคับ
๒มีข้อซึ่งยังเถียงกันอยู่ว่า เมื่อทูตนั้นได้กระทำโจรกรรมอันร้ายแรง ประเทศจะมีอำนาจที่จะจับตัวไว้ในระหว่างที่รัฐบาลทั้ง ๒ พูดกันได้ฤๅไม่? คือ เมื่อปี ๑๘๑๗ เคาน์กินเลนเบิก, ทูตเมืองสวิเดนซึ่งประจำอยู่ที่เมืองอังกฤษ ได้ไปช่วยคิดขบถต่อพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ ๆ หาได้ไล่ออกเสียไม่ จับตัวไว้แล้วปล่อย ถึงกระนั้น ก็ได้มีคำร้องขึ้นบ้าง แลเมื่อปี ๑๗๑๘ ทูตเมืองสเปนที่ประจำอยู่เมืองปารีศคิดจบถ ฝรั่งเศสได้จับไว้แล้วปล่อยเหมือนกัน แต่ในคราวหลังนี้ไม่ได้มีใครร้องเลย
๓ข้อที่ไม่ได้อยู่ในบังคับนั้นเผื่อแผ่ไปถึงพี่น้องลูกเมียทูต แลผู้ที่ทำราชการอยู่ด้วยกับทูต แลลูกจ้างของทูตนั้น ก็ถือกันโดยมากว่า ฟ้องร้องไม่ได้ เว้นไว้แต่ได้ได้อนุญาตของทูตนั้น
แต่ในเมืองอังกฤษ เมื่อคนขับรถของทูตอเมริกาได้ไปวิวาทกับคนอื่นเข้า อังกฤษได้จับตัวไว้ชำระ
๔บ้านทูตนั้น ประเทศไม่มีอำนาจที่จะให้โปลิศเข้าไปค้นฤๅเข้าบ้านเมื่อเขาไม่ยอม แต่ทูตไม่มีอำนาจที่จะตั้งศาลในนั้นอย่างเดียวกันกับเปนอาณาเฃตร
๕ในทวีปยุโรป ทูตไม่มีอำนาจที่จะคุ้มครองพวกโจรฤๅพวกขบถ แต่ทวีปเอเซียทำกันบ่อย ๆ
๖ศาลไม่มีอำนาจที่จะเรียกทูตมาเปนพยาน เว้นแต่เขาได้ยอม
๗เก็บภาษีทูตไม่ได้
ในประเทศหนึ่งประเทศใดซึ่งได้มีสัญญายอมอนุญาตให้เขาบังคับคนของเขาเองในประเทศแล้ว ต้องทำตามสัญญานั้น ในเมืองไทยมีสัญญาอย่างนี้ทั้งนั้น เว้นไว้แต่จีนแลยี่ปุ่น (ให้ดูหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี)
ประเทศมีอำนาจที่จะรับปกครองคนซึ่งมาพึ่งบารมีโดยที่ได้ทำผิดในประเทศอื่น เมื่อเปนความผิดในข้อราชการ ไม่ต้องส่งตัวให้ประเทศนั้น แต่ในเรื่องความอาญา ต้องดูกฎหมายธรรมดาว่า ศาลของเราจะรับชำระคนซึ่งได้กระทำโจรกรรมนอกอาณาเฃตรฤๅไม่ เมื่อรับแล้ว เขาฟ้องในศาลเราได้ แลบางทีมีสัญญาต่อกันเรียกว่า สัญญาเอกสตราดิชั่น คือ สัญญาว่าจะส่งโจรผู้ร้ายให้แก่กัน
ประเทศหนึ่งประเทศใดมีอำนาจที่จะไล่คนต่างประเทศไม่ให้อยู่ในอาณาเฃตรได้ฤๅไม่ จะพูดตามตรง โดยกฎหมายแล้ว มีอำนาจอย่างเดียวกับเรามีอำนาจที่จะไล่คนซึ่งมาอาไศรยในบ้านเราออกไปเสีย แต่โดยที่ได้เปนมา จะไล่ทั้งหมดนั้นไม่เปนไปได้ เจ้าพระยาอภัยราชาพยายามอธิบายเพื่อที่จะให้ตกลงกันว่า ทำไปไม่ได้ในเวลาที่ไม่เปนศึกสงครามต่อกัน เมื่อทำขึ้นแล้ว ฝ่ายโน้นควรจะต้องทำตอบเหมือนกัน
น่าที่ ๆ จะรับผิดชอบในการที่เกิดเหตุในประเทศ ซึ่งเปนการเสียหายต่อนา ๆ ประเทศ มีจำกัดแต่เพียงว่า ได้แกล้งฤๅได้ละเว้นกระทำสิ่งซึ่งสมควรจะที่จะทำ เมื่อเกิดเหตุขึ้นโดยที่ไม่ได้แกล้งฤๅโดยที่ไม่รู้ตัวแล้ว ไม่ต้องรับผิดชอบ
เมื่อเมืองได้เกิดจุลาจลขึ้นแล้ว คนต่างประเทศต้องระวังตัวเอง แผ่นดินไม่ต้องรับผิดชอบ
ในเรื่องชาติ ที่จะว่า ผู้ใดเปนชาติอะไรนั้น มีข้อเถียงมาก
อย่างหนึ่งซึ่งไม่มีข้อเถียงนั้น คือ ผู้ซึ่งเกิดในประเทศ พ่อแม่เปนชาติของประเทศ
ที่เถียงกันนั้น คือ ผู้ที่เกิดในประเทศ พ่อแม่เปนคนต่างประเทศ ในเมืองอังกฤษแลเมืองโปรตุเกศนับกันว่า เปนคนอังกฤษฤๅคนโปรตุเกศ แต่ตามกฎหมายฝรั่งเศส พ่อเปนชาติไร ลูกต้องเปนชาตินั้น ที่ได้กล่าวมานี้เปนธรรมเนียมในทวีปยุโรป
ในทวีปเอเซีย คนที่ไม่ได้เปนฝรั่ง ถือกันว่า เกิดที่ไหน เปนชาตินั้น
ลูกไม่มีพ่อมีแม่ คือ เมื่อพ่อกับแม่ไม่ได้เปนผัวเมียกันตามกฎหมาย ถือกันว่า ลูกนั้นตามชาติแม่ แต่ในประเทศอังกฤษประเทศเดียว คนชนิดนี้นับว่า ไม่มีพ่อไม่มีแม่ เมื่อเกิดในเมืองอังกฤษแล้ว นับว่า เปนคนอังกฤษ
หญิงซึ่งได้แต่งงานกับคนต่างประเทศ เปลี่ยนชาตเปนชาติผัว เว้นไว้แต่เมืองอเมริกา ผู้หญิงอเมการิแต่งงานกับคนต่างประเทศแล้ว ประเทศอเมริกายังถือว่า เปนคนอยู่ในปกครองนั้น แต่เมื่อคนอเมริกาแต่งงานกับหญิงต่างประเทศ หญิงต่างประเทศเปนตนอเมริกา
เปลี่ยนชาติ (แน๊ดเชอแลลไลเซชั่น) คือ คนต่างประเทศร้องขอจะเปลี่ยนชาติเปนชาติอื่น การที่ประเทศต่าง ๆ อนุญาตเปลี่ยน แปลกกันมาก มีคำเถียงกันอยู่คำหนึ่งว่า คนจะขอร้องเปลี่ยนชาติได้ฤๅไม่ ประเทศของตัวนั้นจะต้องยอมฤๅไม่ยอม แต่เดี๋ยวนี้ ยอมให้เปลี่ยนทั้งนั้น แต่ต้องกระทำตามข้อบังคับต่าง ๆ หลายสิ่งหลายอย่าง เปนต้นคือ ต้องอยู่ในเมืองเขามีกำหนดปี
แต่เมืองเยอรมันนั้น ไม่ยอมให้คนของตัวเปลี่ยนชาติ เมื่อคนนั้นยังไม่ได้เปนทหาร
ฝรั่งเศสยอมให้เปลี่ยนชาติ แต่แม้ว่ามาทำศึกแก่เมืองฝรั่งเศสแล้ว โทษถึงตาย
ประเทศหนึ่งประเทศใด ก่อนที่จะยอมให้คนต่างประเทศเข้าในชาติเขาแล้ว มีข้อบังคับแขงแรง เพราะเหตุว่า ในทวีปยุโรป คนต่างประเทศมีอำนาจอันชอบธรรมน้อยกว่าคนในเมือง เมื่อยอมให้เปลี่ยนแล้ว ก็เปนเพิ่มอำนาจอันชอบธรรมนั้นให้ แลคนต่างประเทศนั้นอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเขาทั้งสิ้นแล้ว ไม่มีเอกสตราเตอรีตอเรียแอนริตี้ เว้นไว้แต่เมืองเตอร์กี
อนึ่ง เมื่อประเทศใดยอมให้คนเปลี่ยนชาติโดยง่ายแล้ว นับกันว่า เปนกิริยาไม่ดี เช่น เมื่อเมืองเยอรมันได้ ๆ เมืองแฟรงเฟิดแล้ว ราษฎรในเมืองนั้นเปลี่ยนชาติเปนคนสวิดเซอร์แลนด์เพื่อที่จะหนีเปนทหาร เยอรมันจับตัวเนรเทศหมดทุกคน เมืองสวิตเซอร์แลนด์รับว่า เขาทำถูกแล้ว
เมื่อพ่อเปลี่ยนชาติ บางเมืองก็นับว่า ลูกซึ่งยังมีอายุต่ำกว่า ๒๑ เปลี่ยนชาติด้วย บางเมืองก็ไม่นับ เว้นแต่เมื่อเด็กนั้นโตขึ้นแล้วจะได้ขออนุญาตเขา
ได้กล่าวไว้เลา ๆ ว่า เรือสินค้าซึ่งไม่เปนเรือรบ เมื่อเวลาเดินอยู่กลางทะเลนั้น เปนพระราชอาณาเฃตร แต่จะเรียกว่าอาณาเฃตรแท้ยังไม่ได้เหมือนเรือรบ เพราะเหตุว่า บางคราว คือ เวลาศึกสงคราม เปนต้น ตามที่จะได้กล่าวภายหลังข้างท้ายนี้ เมืองอื่นมีอำนาจที่จะตรวจเรือนั้น เปนอาณาเฃตรแต่เพียงนี้เท่านั้นเอง คือ เมื่อผู้หนึ่งผู้ใดในเรือนั้นได้กระทำละเมิดกฎหมาย ต้องนับว่า ได้กระทำในที่ดินในอาณาเฃตรของธง
สลัดนั้น คือ โจรผู้ร้ายซึ่งได้มาโดยทางทะเลเพื่อจะได้ตีชิงของ ตามธรรมดาสลัดนั้นไม่นับว่า อยู่ในบังคับประเทศใด เพราะเหตุฉนี้ ประเทศใด ๆ ก็ดีมีอำนาจที่จะทำโทษได้หมด (เช่น)
(ก)เมื่อปี ๑๘๗๓ พวกขบถเมืองสเปน (เรียกชื่อว่า ขบถคาทยีน่า) ได้ตีเอาเรือรบไปได้ รัฐบาลเมืองสเปนประกาศให้นา ๆ ประเทศทราบว่า คนพวกขบถนี้เปนสลัด ใครจะทำโทษก็ได้ ประเทศอื่น ๆ ในทันทีนั้นออกคำสั่งบังคับเรืออย่าให้ทำร้ายต่อพวกขบถนี้ ไม่นับว่า เปนสลัด เพราะเหตุว่า พวกขบถหาได้กระทำโจรกรรมไม่
(ข)เมื่อปี ๑๘๗๗ พวกขบถเมืองปิรูได้จับเรือรบหัสกาแล่นออกไปทะเล พบเรืออังกฤษเข้าลำหนึ่ง แย่งเอาถ่านเสียหมด เรือรบอังกฤษเข้ารบไม่ทันแพ้ชนะ เรือหัสกาหนี เมืองปิรูมีคำร้อง แต่อังกฤษถือว่า แม่ทัพเรือของตัวได้ทำถูก เพราะพวกขบถนั้นได้กระทำโจรกรรม
ในที่สุด ต้องมีเจตนาที่จะทำร้าย จึ่งเรียกว่า สลัด
เมื่อปี ๑๘๓๘ มีพวกขบถเตรียมตัวอยู่ในแดนอเมริกาจะเข้ามาในอาณาเขตรอังกฤษ คือ ประเทศคานาดา ทหารอเมริกาไม่กล้าปราบปรามพวกขบถ ทหารอังกฤษจึ่งได้ยกเข้าไปปราบในแดนอเมริกา ทำลายเรือของข⟨บ⟩ถชื่อ แคโรไลน์ เสีย อเมริกาก็ยอมว่า เมื่อได้กระทำดังนี้ โดยที่จะป้องกันร้ายอันใหญ่โตซึ่งจะตกมาทันที ก็พอฟังได้ อังกฤษตอบว่า ไม่มีเวลาที่จะบอกรัฐบาลอเมริกา
อิกเรื่องหนึ่ง เมื่อปี ๑๘๐๗ อังกฤษได้ส่งทัพเรือไปที่ประเทศเดนหมาก เรียกเอาเรือรบของเดนหมากนั้นมาไว้ในมือหมด เพราะทราบว่า ฝรั่งเศสจะไปเอาเรือนี้มารบอังกฤษ
ตามตัวอย่างนี้ เขาวินิจฉัยว่า ประเทศหนึ่งมีอำนาจที่จะทำผิดกฎหมายบ้างเล็กน้อย เมื่อจำเปนที่จะต้องป้องกันตัวโดยทันที
อินเตอร์เวนชั่นนั้น คือ เมื่อประเทศ ๒ ประเทศจะได้กระทำอะไรต่อกัน มีประเทศอื่นสอดเข้ามาห้ามปรามฤๅพูดในเรื่องนั้นเพื่อที่จะไม่ให้ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเปนที่เสียหายฤๅซึ่งจะเปนที่เสียหายน่ากลัวต่อเขา
เมื่อในประเทศหนึ่งเกิดจุลาจล จะเปลี่ยนกระษัตริย์เปนต้น เมืองหนึ่งเมืองใดจะเข้ามาอินเตอร์วีนได้ฤๅไม่ เมื่อก่อน ๑๐๐ ปีนี้ขึ้นไป ดูมีคนคิดว่าได้มาก แต่ในสมัยนี้ เขาหาได้ถือว่า แผ่นดินเปนทรัพย์ของพระเจ้าแผ่นดินไม่ เห็นเปนว่า พระเจ้าแผ่นดินนั้นเปนประธานของราษฎร เมื่อราษฎรจะเกิดขบถเปลี่ยนประธานาธิบดี ประเทศอื่นไม่มีอำนาจที่จะเข้ามาอินเตอร์วีนโดยเหตุนั้นอย่างเดียว
คือ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ, ทูต, นายทัพฤๅนายทหาร, ข้าหลวงตั้งขึ้นเฉพาะน่าที่นั้น
เมื่อประเทศหนึ่งได้ตั้งทูตขึ้น ประเทศซึ่งจะไปประจำมีอำนาจที่จะไม่รับคนนั้นเปนทูตได้ แต่ต้องมีเหตุสำคัญ (เช่น)
(ก)เมืองอังกฤษไม่ยอมรับทูตโป๊ป เพราะกล่าวว่า โป๊ปไม่ได้เปนพระเจ้าแผ่นดิน แต่พระแลโป๊ปไม่ยอมรับทูตเยอรมันชื่อ โฮเฮลโล เพระเปนพระราชาคณะซึ่งมีอำนาจว่าการในที่ว่าการของโป๊ป
ทูตนั้นยศผิดกัน คือ (๑) แอมแบ๊ดสิเดอร์ แล เลเกด (คือ ทูตของโป๊ป) ต้องเปนพระ แลส่งไปเมืองที่นับถือ แอมแบ๊ดสิเดอร์ คือ ทูตแทนพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน
๒เรียกว่า เอนวอย แล มินิสเตอร์ คือ เปนทูตของรัฐบาล แต่เอนวอยกับแอมแบ๊ดสิเดอร์นั้นเดี๋ยวนี้คล้ายกันแล้ว
๓มินิสเตอร์ประจำเมือง
๔ชาเยดาแฟ คือ ผู้แทนทูต
วิธีที่ตั้งทูตนั้น ต้องมีหนังสือตั้ง เรียกว่า ครีเดนชั่น
ประเทศมีอำนาจจะไล่ที่ทูตของนา ๆ ประเทศเสีย เมื่อทูตนั้นได้ทำนอกน่าที่ คือ สอดเข้ามาทำการซึ่งไม่เกี่ยวข้องแก่นา ๆ ประเทศ
เมื่อประเทศทั้ง ๒ มีศึกสงครามต่อกัน ประหนึ่งส่งทูตไปประเทศอื่น ประเทศซึ่งเปนข้าศึกกันจับไว้เมื่อเข้าเฃตรของตน ดูเหมือนจะได้ เปนต้นคือ เมื่อปี ๑๗๔๔ อังกฤษกับฝรั่งเศสเปนศึกต่อกัน ฝรั่งเศสส่งคนชื่อ เบลอีล เปนทูตไปเมืองเยอรมัน แต่ทูตคนนั้นเดินผ่านอาณาเฃตรอังกฤษไป อังกฤษจับไว้ ก็ไม่ได้มีปากเสียง
นายทหารมีอำนาจพูดแทนรัฐบาลได้ เมื่อเวลาทำการงานฤๅเปนสัตรูอยู่กับฝ่ายโน้น เปนต้น
ผู้ถือหนังสือของทูตมีอำนาจที่จะไม่ให้ใครค้นตัวได้ เมื่อไม่มีศึก
กงสุลนั้น คือ เปนผู้ดูแลคนแลทรัพย์ของเมืองตัว ไม่มีอำนาจเหมือนทูต แลไม่ได้เปนผู้ซึ่งจะพูดแทนประเทศของตัวได้ วิธีตั้งกงสุลนั้น คือ เอาหนังสือตั้งไปให้ประเทศนั้น ๆ ต้องรับรองก่อน จึ่งจะเปนได้ ที่รับรองนั้นเรียกว่า ได้ให้เวกสเควเตอร์ กงสุลตามธรรมดาต้องอยู่ในบังคับบัญชากฎหมาย ไม่เหมือนทูต แต่ประเทศไม่มีอำนาจอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะทำให้กงสุลนั้นขาดราชการได้
ทำหนังสือสัญญาในระหว่างประเทศคล้ายกันกับทำหนังสือสัญญาธรรมดา แต่ว่า หนังสือสัญญาระหว่างประเทศนั้น เมื่อต้องทำโดยข่มขืนแล้ว ยังใช้ได้อยู่ แต่เมื่อฝ่ายโน้นฉ้อโกงแล้ว ไม่เปนสัญญา เปนต้นคือ เอาแผนที่ปลอมมาให้กะเฃตรแดน
สัญญาระหว่างประเทศนั้น เมื่อได้ลงชื่อแล้ว ยังต้องมีรับรองอิกชั้นหนึ่ง จึ่งจะเปนสัญญา เรียกว่า แรติฟิเกชั่น ฤๅ แรติไฟ แลเมื่อจะไม่รับรองแล้ว ต้องมีข้อสำคัญขึ้นอ้าง
๑คือ ตั้งอนุญาโตตุลาการ เรียกว่า อาบิเตรชั่น แลการที่จะตั้งอนุญาโตตุลาการนั้นต้องมีสัญญากำหนดอำนาจแลเรื่อง เมื่อได้ตัดสินแล้ว ต้องทำตาม เว้นไว้แต่ตุลาการจะได้กระทำเกินอำนาจฤๅได้ฉ้อโกงรับสินบน
๒ริตอชั่น คือ ประเทศหนึ่งได้ทำสิ่งซึ่งเปนร้าย ประเทศอิกอันนั้นได้ทำตอบแทนบ้าง แลการที่ตอบแทนนี้ไม่ผิดกฎหมายฤๅสัญญา เปนต้นคือ เมืองหนึ่งขึ้นภาษีเพื่อที่จะไม่ให้ของ ๆ อิกประเทศนั้นเข้ามากเกินไป เมืองอื่นนั้นขึ้นภาษีตอบแทนได้
๓ริไปรซัล คือ ทำตอบแทนโดยที่ผิดสัญญาฤๅผิดกฎหมาย คือ เมื่อประเทศหนึ่งได้ทำสิ่งซึ่งเปนร้าย ประเทศนี้ริบทรัพย์สมบัติของประเทศนั้นไว้, ที่เรียกว่า เอมบาโค นั้น แปลว่า กักเรือแลสินค้าต่างประเทศไว้
๔บลอกเขด ไม่ถึงรบกัน ที่เป็นครั้งที่หนึ่งนั้นเมื่อปี ๑๘๒๗ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ได้ส่งเรือไปปิดอ่าวเมืองคริก แลเมื่อปี ๑๘๘๔ ฝรั่งเศสบลอกเขดเกาะฟอโมซา แต่ร้องว่า ไม่ได้เปนศึกแก่กัน ขอให้อังกฤษขายถ่านให้เรือรบตนอย่างธรรมดาในเวลามีไมตรีทั่วไป อังกฤษไม่ยอม
บลอกเขดในที่สุดเช่นนี้นั้น คือ นา ๆ ประเทศในทวีปยุโรปได้ล้อมเกาะคริดของเตอรกี