ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ/ภาคที่ 23/เรื่องที่ 2
ประเพณีอาวาหะและวิวาหมงคลของจีนต่อมาในแผ่นดินไต้เช็ง ค้นหาตำราไม่พบ ทราบว่า มีอยู่แต่ที่จดจำกันไว้ หาได้พิมพ์ออกเป็นตำราให้แพร่หลายไม่ จึงเป็นการยากที่จะถือเป็นยุตติว่า จะใช้กันอย่างไรเป็นสามัญทั่วไป จะขอกล่าวแต่ประเพณีการแต่งงานของจีนชาวเมืองเตี้ยจิว มณฑลกกว้างตุ้ง ที่ยังนิยมใช้กันอยู่สืบมาจนบัดนี้ ตามที่สืบทราบจากจีนผู้หลักผู้ใหญ่ ดังจะกล่าวต่อไปนี้
ประเพณีการแต่งงานของชาวเมืองเตี้ยจิว มณฑลกว้างตุ้ง มีต่างกันเป็น ๒ พวก พวก ๑ นิยมตามแบบอย่างเก่า อีกพวก ๑ นิยมตามแบบอย่างใหม่ ในที่นี้ จะกล่าวแต่ประเพณีของพวกที่นิยมแบบแผนอย่างเก่าเท่านั้น
ลักษณะการพิธีแต่งงานบ่าวสาวของชาวเมืองเตี้ยจิวนั้น ความนิยมต่างกันตามเพศตามภาษา การสู่ขอหญิงเข้ามาเป็นสะใภ้นั้นมีข้อสำคัญอยู่ที่จะต้องสืบสวนให้แน่นอนว่า สกุลวงศ์แซ่และความประพฤติของฝ่ายหญิงเป็นอย่างใด จะสมควรเป็นสามีภริยากันหรือไม่ ข้อนี้เป็นส่วนสำคัญไม่ว่าชาติใดภาษาใด แต่ฝ่ายจีนยังมีแปลกออกไปอีกด้วย จำกัดหญิงที่จะขอสู่มาเป็นสะใภ้ จนถือเป็นสุภาษิตดังในภาษิตของจีนแสฮู่อันเต๋งกล่าวไว้ว่า “ปลูกลูกสาวให้มีสามี ๆ จะต้องมีฐานะดีกว่าหญิงที่มาเป็นภรรยา หญิงสะใภ้นั้นจะได้ตั้งใจปฏิบัติสามีด้วยความยำเกรง หาบุตรสะใภ้อย่าได้หาผู้ที่มีฐานะดีกว่าลูกชาย ลูกสะใภ้คนนั้นจะได้มีใจปฏิบัติผู้ใหญ่ด้วยความเคารพ” และยังมีภาษิตชาวเมืองเตี้ยจิวอีกบทหนึ่งว่า “มึงฮวงเชียงตุ่ย แปลว่า มีเคหสถานพอสมคู่กัน หรือแปลว่า มีเกียรติศักดิ์ มียศ มีทรัพย์ สมควรแก่กัน” เมื่อความนิยมแตกต่างกันดังนี้ บิดามารดาจึงต้องเลือกหาลูกเขยลูกสะใภ้ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ถ้าบิดามารดาทั้ง ๒ ฝ่ายมีความสนิทชิดชอบกัน ฝ่ายหนึ่งมีลูกเป็นชาย อีกฝ่ายหนึ่งมีลูกเป็นหญิง ก็พูดจาสัญญาสู่ขอให้เป็นสามีภรรยากันไว้ตั้งแต่บุตรธิดายังเป็นเด็ก ก็มีบางคนถึงสู่ขอบุตรธิดากันเมื่อยังอยู่ในครรภ์ก็มี บางคนก็สู่ขอเด็กหญิงด้วยทำนองซื้อขายกัน คือ ผู้ปกครองฝ่ายชายให้เงินแก่ผู้ปกครองเด็กหญิง แล้วก็รับเอาเด็กหญิงนั้นมาเลี้ยงดูจนเติบโตเป็นสาว มีอายุพอสมควรแต่งงานได้แล้ว บิดามารดาก็จัดแจงทำพิธีแต่งงานให้อยู่กินเป็นสามีภรรยากัน ที่ซื้อมาเลี้ยงไว้เป็นภรรยานั้น คำจีนเรียกว่า “ท่งเอี๋ยงเซ็ก แปลว่า เลี้ยงสะใภ้เล็ก”
ส่วนอายุของบุตรธิดาที่จะแต่งงานเป็นสามีภรรยาได้นั้น ก็มีกำหนดว่า ฝ่ายชายต้องมีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป ฝ่ายหญิงก็ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๕ ปี แต่ธรรมเนียมเก่าถือกันว่า ชายต้องมีอายุถึง ๒๐ ปีขึ้นไป หญิงต้องมีอายุ ๑๗‒๑๘ ปีเป็นเกณฑ์ บุตรธิดาที่มีผู้ใหญ่ปกครองอยู่ จะผูกสมัครรักใคร่กันเองโดยไม่มีผู้ใหญ่จัดแจงแต่งงานให้เป็นสามีภรรยากันนั้น ไม่ได้เป็นอันขาด
การแต่งงานบ่าวสาวนี้ จีนถือว่า เป็นการมงคลอันประเสริฐกว่าเรื่องใด ๆ ระวางวันเวลาที่กำหนดนัดทำพิธีแต่งงานกันนั้น ถ้ามีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น บิดามารดาญาติสนิทของชายและหญิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมรณภาพลง ก็ต้องบอกงดการแต่งงานกันชั่วคราว จนกว่าจะทำการปลงศพเสร็จและสิ้นเขตต์ทุกข์แล้ว จึงให้ดูวันคืนนัดแต่งงานกันใหม่ ฉะนั้น จึงมีคนบางคนเมื่อเห็นว่า อาการป่วยของญาติผู้ใหญ่หนักลง ก็รีบฉวยโอกาสจัดแจงรับตัวเจ้าสาวมาทำพิธีแต่งงานในปัจจุบันทันด่วนให้สำเร็จกันไปก็มี และในวันแต่งงานนั้น เขาถือความที่เป็นมงคลสวัสดีทุกสิ่งทุกอย่าง กระทั่งผู้ที่ไปช่วยในงานจะต้องมีความร่าเริงบันเทิงใจ ทั้งกิริยาวาจาก็ต้องเรียบร้อยสละสลวย แม้จะทำสิ่งใดจะต้องระมัดระจังให้ถี่ถ้วนทุกเมื่อ
เรื่องสินสอดขันหมากนั้น จีนชาวเมืองเตี้ยจิวชุดเก่ากะกำหนดสินสอดเพียงเงิน ๒๐ ตำลึงจีนเป็นอย่างมาก ส่วนขันหมากในวันนั้นไม่มี มีแต่ขนมต่าง ๆ จัดเป็นที่ ๆ จนถึงพิธีคุยซียิดตอนที่ ๕ จึงได้จัดหมากพลู ๒ ที่ไปกับสิ่งของต่าง ๆ ในวันนั้น เพราะการกินหมากในเมืองจีนก็มีเหมือนกัน ชาวเมืองเตี้ยจิวใช้หมากพลูรับแขกก็มี แต่หมากพลูเขาใช้ปูนขาวกับใส่น้ำตาลกรวด รับประทานแล้วฟันไม่ดำ ฉะนั้น จีนชาวเมืองเตี้ยจิวที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยจึงชอบรับประทานหมากกันมาก แต่ผู้ที่มาในสมัยนี้รับประทานหมากลดน้อยลง
พิธีแต่งงานจีนยังเรียกตามแบบโบราณสืบเนื่องกันมาจนทุกวันนี้ว่า ลักเล้ย (คือแปลว่า พิธีครบ ๖ ประการ) แต่ส่วนที่ทำจริงหาได้ทำตามพิธีโบราณไม่ ชาวเมืองเตี้ยจิวไต้ตั้งชื่อพิธีขึ้นใหม่ คือ ข้อที่ ๑ นับไช้ เป็น เคียะเตี้ย, ข้อที่ ๒ มึ่งเมี้ย เป็น กั้วเตี้ย, ข้อที่ ๓ นับกิ้ด เป็น คั่งฮวย, ข้อที่ ๔ นับเต็ง เป็น สั่งเพี่ย, ข้อที่ ๕ เชี้ยคี้ เป็น คุยซี่ยิด, ข้อที่ ๖ ชินเง้ง เป็น ซั่วซินนั้ง, คำซึ่งต่างกันนี้เรียกตามภาษาพื้นเมือง แต่ความหมายอย่างเดียวกัน ต่อมาในปลายแผ่นดินไต้เช็ง ได้ย่นการพิธีลักเล้ยทั้งเก่าและใหม่เข้ารวมกัน ทำพิธีเพียง ๓ ระยะเท่านั้น เพื่อให้สะดวกแก่กันทั้งสองฝ่าย และไม่ต้องเสียเวลาอันยืดยาด คือ เอาพิธีเคียะเตี้ยและกั้วเตี้ยรวมเป็นระยะแรกตอน ๑ เอาพิธีคั่งฮวยและสั่งเพี่ยรวมเป็นพิธีระยะที่ ๒ ตอน ๑ เอาพิธีคุยซี่ยิดและซั่วซินนั้งรวมเป็นระยะที่ ๓ ตอน ๑ เมื่อได้ทำพิธีตลอด ๓ ระยะนี้แล้ว ก็ถือกันว่า ได้ทำพิธีแต่งงานอันถูกต้องแล้ว และไม่เป็นการเยิ่นเย้อดังแบบเก่า จึงพากันนิยมใช้แบบหลังนี้ทั่วไป
ส่วนประเพณีที่กะเกณฑ์เอาสินสอดขันหมากนั้น ไม่มีจำกัดว่า เป็นจำนวนมากน้อยเท่าใด ต้องแล้วแต่ความมั่งมียากจนของชายหญิงทั้ง ๒ ฝ่าย ผู้ปกครองที่คิดจะปลูกฝังบุตรธิดาให้มีหน้ามีตา ก็กะเกณฑ์เอาสิ่งของเงินทองกันให้มากไว้ แต่ถ้าฝ่ายหญิงเป็นผู้มั่งมีด้วยแล้ว กลับจะต้องเสียเปรียบแก่ฝ่ายชาย โดยถูกเกณฑ์หรือโดยความเต็มใจของผู้ปกครองที่อยากให้บุตรสาวมีหน้ามีตา จึงยอมรับจัดเครื่องตกแต่งเป็นอันมากส่งไปพร้อมกันในวันที่ส่งตัวเจ้าสาวไปแต่งงาน ทรัพย์สมบัติของผู้ปกครองฝ่ายหญิงที่จัดให้ไปในวันแต่งงานบ่าวสาวนั้น ตามเกณฑ์มีอยู่ ๓ ชั้น ชั้นที่ ๑ เรียกว่า ช่วนเทียมิ่น (แปลว่า เครื่องเต็มหน้าหอ) ชั้นที่ ๒ เรียกว่า งิ่นเทียมิ่น (แปลว่า เงินหน้าหอ) ชั้นที่ ๓ เรียกว่า ปั้งไหลเก้จึง (แปลว่า เครื่องแต่งในห้อง) สิ่งของเหล่านี้จะได้กล่าวรายละเอียดในลักษณทำพิธีระยะที่ ๖
ในเรื่องสู่ขอหญิงมาให้เป็นภรรยาลูกชาย ตามธรรมเนียมของชาวเมืองเตี้ยจิว ไม่เคยมีการกะเกณฑ์และสัญญาเรียกเอาเงินทองกองทุนเป็นการขันต่อซึ่งกันและกันเลย มีแต่เรียกสินสอดตามประเพณีที่กำหนดกันเป็นเงิน ๒๐ ตำลึงจีน นอกจากเงินสินสอดจำนวนนี้แล้ว เลี่ยงไปเกณฑ์เอาขนมกันเป็นจำนวนหลายร้อยชั่ง และตีราคาค่าขนมหนัก ๑๐๐ ชั่ง เป็นเงินตั้ง ๖๐ เหรียญหรือ ๔๐ เหรียญเป็นอย่างน้อย แต่มาในสมัยนี้ โดยมากฝ่ายหญิงเรียกค่าสินสอดตามชอบใจ จึงต้องพูดจาต่อตามคล้ายกันกับการซื้อขาย เมื่อการเป็นเช่นนี้แล้ว ลักษณะสู่ขอหญิงมาเป็นภรรยาก็ชื่อว่า ไม่ใช่ปฏิบัติตามประเพณีเก่า
ได้กล่าวมาแล้วว่า ประเพณีแต่งงานบ่าวสาวของจีนสมัยแผ่นดินไต้เช็งมีการเปลี่ยนแปลงจากแบบเดิมบ้าง แต่อยู่ใน ๖ ระยะนั้นเอง ตกมาตอนปลายแผ่นดินไต้เช็ง จึงรวม ๒ ระยะ ๆ เข้าเป็น ๑ คงเหลือแต่ ๓ ระยะ ในที่นี้ จะกล่าวด้วยพิธี ๖ ระยะตามเดิมก่อน พิธีระยะแรกที่เรียกว่า เคียะเตี้ย นั้น (แปลกว่า เอามัดจำ เท่ากับคำไทยเรียกว่า หมั้น) บิดามารดาผู้ปกครองจะหาภรรยาให้บุตรตน ก็หาเถ้าแก่แม่สื่อไปเลือกหาบุตรหญิงของวงศ์แซ่ใดแซ่หนึ่ง ไม่ว่าตำบลใกล้หรือไกล เมื่อเถ้าแก่แม่สื่อได้พูดจาแนะนำตกลงกับข้างฝ่ายหญิงแล้ว ก็กลับไปบอกแก่บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายชาย ผู้ปกครองฝ่ายชายเห็นชอบด้วยแล้ว ก็เอากระดาษแดงตัดเป็นรูปรองเท้าของลูกชายมอบให้เถ้าแก่แม่สื่อเอาไปให้บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายหญิง ๆ รับเอารูปรองเท้านั้นไว้เป็นของหมั้นสัญญา บางคนใช้แหวนหยกแหวนทองของขวัญเป็นของหมั้นก็มี ของหมั้นจะเป็นราคาเล็กน้อยก็ตาม ถ้าบิดามารดาผู้ปกครองได้รับไว้แล้ว นับว่า เป็นการยินยอมตกลงกัน เมื่อตกลงรับหมั้นกันแล้ว บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายหญิงจึงสัญญากะเกณฑ์เอาขนมต่าง ๆ แก่ฝ่ายชาย คือ เรียกเอาขนมเข่งใหญ่ ขนมฟูเข่งใหญ่ มีน้ำหนักตั้ง ๑๐๐ ชั่ง และซอละเปาลูกใหญ่เท่ากลอง ขนมเข้าพอง ถั่วตัด งาตัดแผ่นใหญ่ ๆ เครื่องจันอับต่าง ๆ บางรายเรียกเอาอย่างละ ๓๐๐ ชั่งก็มี ถ้าเป็นขนมอย่างเอก ก็ตีราคากันไว้หนัก ๑๐๐ ชั่ง เป็นเงิน ๖๐ เหรียญก็มี ๔๐ เหรียญก็มี และทำเล้ยเทียบ (บัตรธรรมเนียม) บอกวันเดือนปีเกิดของลูกสาวส่งไปให้บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายชาย
ระยะที่ ๒ เรียกว่า กั้วเตี้ย นั้น (แปลว่า หิ้วของไปหมั้นเป็นการแน่นอน) บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายชายจัดของหมั้นไปให้แก่ฝ่ายหญิงอีกครั้ง ๑ ครั้งนี้จึงจัดแจงเอาโก๋วกี่ (แปลว่า เงินทองรูปพรรณ, เพ็ชร์พลอยหรือหยก) สิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วแต่ความพอใจ เอาพันธุ์ธัญญาหาร ๕ อย่างบรรจุลงในภาชนะ แล้วเอาเครื่องรูปพรรณกับเงินสินสอด ๑๐ ตำลึงวางไว้บนธัญญาหาร และเอาใบทับทิมปิด มอบให้เถ้าแก่แม่สื่อนำไปให้บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายหญิง ๆ จัดการรับรองแขกที่ส่งเงินสินสอดมานั้น และตรวจรับตามรายการในเล้ยเทียบถูกต้องแล้ว ก็จัดแจงขนมและน้ำตาลตังเม คำจีนเรียกว่า จูทึ้ง เป็นน้ำหนัก ๑๐๐ ชั่งบ้าง ๒๐๐ ชั่งบ้าง ตอบแทนให้แก่บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายชาย
ระยะที่ ๓ ซึ่งเรียกว่า พั่งฮวย นั้น (แปลว่า ยกดอกไม้) ต่อจากวันพิธีกั้วเตี้ยแล้ว บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายชายก็ดูวันจัดหาขนมต่าง ๆ ที่ฝ่ายหญิงได้สัญญากะเกณฑ์เอาแก่ฝ่ายชายนั้นส่งไปให้เสียครึ่งจำนวนก่อน คือ เป็นขนมเครื่องจันอับ กับขนมเข่งใหญ่ ขนมฟูเข่งใหญ่ ซอละเปาลูกใหญ่ ดังได้กล่าวไว้ในลักษณระยะแรกนั้นแล้ว ขนมเหล่านี้จัดลงภาชนะที่จีนเรียกว่า เจี๊ยะเซี่ย (ไทยเรียกว่า ลัง หรือชั้น) ตามโรงเกาเหลาเขาใช้ใส่กับเข้าไปส่งในงานต่าง ๆ พร้อมด้วยเล้ยเทียบฉะบับ ๑ มอบให้เถ้าแก่และลูกหาบ ๆ ไปให้บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายหญิง บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายหญิงเชิญแขกให้เข้าบ้านนั่งพักรับประทานน้ำชา เถ้าแก่ก็ยื่นเทียบที่ฝ่ายชายส่งขนมต่าง ๆ มา เมื่อบิดามารดาฝ่ายหญิงได้ตรวจนับรับได้ถูกต้องแล้ว จึงจัดเอาข้าวพองแผ่นใหญ่ ถั่วตัดแผ่นใหญ่ กับขนมอีกหลายสิ่ง และกระเป๋าผ้าใบ ๑ บรรจุเงิน ๒๐ เหรียญ แล้วเอาพรรณธัญญาหาร (คำจีนเรียกว่า เจ๋งจี๊) กับกิมยู่อี่ รูปคล้ายช้อน ทำด้วยทองคำ อีก ๑ อัน หมวกใบ ๑ ถุงเท้ารองเท้าอย่างละคู่ บรรจุลงในกระเป๋าใบนั้นด้วย สิ่งของเหล่านี้มอบฝากเถ้าแก่เอาไปให้บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายชาย
ระยะที่ ๔ ซึ่งเรียกว่า สั่งเพี่ย นั้น (แปลว่า ส่งเงินสินสอด) ในครั้งนี้ บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายชายจัดเงินอีก ๑๐ ตำลึงให้เถ้าแก่นำไปให้บิดามารดาฝ่ายหญิงอีกครั้ง ๑ เงินสินสอดตามประเพณีกำหนดไว้ ๒๐ ตำลึง แต่นำส่งเป็น ๒ คราว คราวละ ๑๐ ตำลึง คือ ส่งในคราวพิธีระยะที่ ๒ คราว ๑ กับระยะที่ ๔ อีกคราว ๑ หาได้นำส่งในคราวเดียวให้เสร็จไม่ เงินสินสอดที่ส่งไปในครั้งนี้ก็ต้องเอาใบทับทิม และชุนเช้า (คือ หญ้าสด) ดอกจือลั้ง ดอกไม้ต่าง ๆ ซึ่งเป็นมงคล เคล้ากับเงินสินสอดและขนมต่าง ๆ อีกจำนวน ๑ มอบให้เถ้าแก่นำไปให้บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายหญิง ถ้าเจ้าสาวมีสาวใช้อยู่ด้วยแล้ว ฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องเพิ่มเงินอีก ๑๐ ตำลึงส่งไปให้ในครั้งนี้ด้วยกัน นอกจากเงินสินสอดกับสิ่งของแล้ว จะต้องมีหนังสือฮุนจือ (หนังสือบริคณห์อาวาหะ) ใช้กระดาษแดงเขียนตัวทองลงนามกับวันเดือนปีเกิดของเจ้าบ่าว แล้วส่งไปให้ฝ่ายหญิงลงนาม วันเดือนปีเกิด ของเจ้าสาว แล้วคืนให้ฝ่ายชายเก็บรักษาไว้เป็นหลักฐาน
ระยะที่ ๕ ซึ่งเรียกว่า คุยซี่ยิด นั้น (แปลว่า รายการนัดวันแต่งงาน) คือ บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายชาย เมื่อเลือกได้ฤกษ์ยามวันแต่งงานแน่นอนแล้ว ก็เขียนเทียบบอกวันคืนที่นัดแต่งงานเป็นตัวทอง และส่งรายการจำนวนสิ่งของและเงินอีกจำนวน ๑ ซึ่งสำหรับให้ฝ่ายหญิงเป็นค่าทำของและค่าขนมลงในเทียบอีกฉะบับ ๑ เป็นเงินค่าขนมแช่อิ่ม ๒๐ เหรียญ และตั้วทึ้งปัง (เข้าพองแดงแผ่นใหญ่) เท่าหน้าโต๊ะ ๑๐ แผ่น จันอับต่าง ๆ ๒๐๐‒๓๐๐ ชั่ง เหล่าตุ่ย (หมากพลูเป็นคู่) อีก ๑ ที่ จำนวนเงินและสิ่งของเหล่านี้จัดลงในลังหรือชั้นขนาดใหญ่นับตั้ง ๒๐ หาบ ให้คนหาบไปกับเถ้าแก่ไปให้บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายหญิง ครั้นเถ้าแก่ถึงบ้านฝ่ายหญิง ก็ส่งเทียบและมอบเงินกับสิ่งของแก่บิดามารดาผู้ปกครองของหญิง เมื่อรับไว้ถูกต้องแล้ว ฝ่ายหญิงก็จัดเอาขนมตังเมตัดแผ่นใหญ่ กล้วยหอม ส้ม ลำใย ผลพลับ ผลท้อ ผลสมอ หัวเผือก ถั่วเขียว พันธุ์ธัญญาหารต่าง ๆ เอาผ้าแดงปิดคลุม และมีหมวกรองเท้าถุงเท้าสำหรับกงพั้ว (แปลว่าบิดามารดาของสามี) และกระเป๋าผ้าอีกใบ ๑ มีเงินบรรจุอยู่ด้วย ๑๒ เหรียญ สิ่งของเหล่านี้เขียนลงในเทียบแดงเป็นของตอบแทน มอบให้เถ้าแก่รับเอาไปให้แก่บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายชาย
ระยะที่ ๖ ซึ่งเรียกว่า ซั่วซินนั้ง นั้น (แปลว่า พาคนใหม่) อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า ซั่วซินเนี้ย (แปลว่า พานางใหม่) เมื่อพ้นจากพิธีระยะที่ ๕ มาแล้ว ก็เป็นวันทำพิธีวิวาหมงคล เป็นการรับตัวเจ้าสาว หรือที่เรียกว่า ส่งตัวเจ้าสาว ในวันนั้น บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายชายได้ทำเทียบออกเชิญญาติผู้ใหญ่ที่สนิทและผู้ดีในตำบลของตนและตำบลที่ใกล้เคียง และเชิญครูที่เคยเป็นจินแสสอนลูกชายตน ไปประชุม ผู้ที่ถูกเชิญไปในงานมงคลนี้ก็ต้องจัดหาสิงของไปช่วย คือ เอาเทียนใหญ่ทาสีแดง มีตัวหนังสือลงทองที่ตัวเทียนเป็นคำให้พรคู่ ๑ บ้างก็เป็นสุราบรรจุขวดหรือไห และสัตว์เป็น เช่น เป็ด, ไก่, ห่าน, กับตุ๊ยลิ้นอั้งติ๊ว (ตุ๊ยลิ้น แปลว่า ป้ายคู่, อั้งติ๊ว แปลว่า แพรแดง) อย่างละคู่ มีคำอวยพรเขียนเป็นตัวทองก็มี ตัวหมึกก็มี แต่ต้องใช้กระดาษแดง และยังมีสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งนับถือกันว่าเป็นมงคลอีก ผู้ที่เอาของไปช่วยนั้นต้องเขียนจำนวนสิ่งของสิ่งละคู่ลงในเทียบกระดาษแดงตามแบบที่นิยมกัน เพราะการเขียนเทียบเชิญแขกก็ดี หรือเอาของไปช่วยงานก็ดี เป็นพิธีถือเปืนธรรมเนียมอย่างเคร่งครัด แล้วให้คนใช้นำของและเทียบไปให้แก่เจ้าของงาน ๆ รับเทียบของผู้ที่ให้มาช่วยนั้นแล้ว ให้พนักงานเขียนเทียบตอบรับทันที แต่สิ่งของนั้นเจ้าของงานมิได้รับเอาไว้ทุกสิ่ง บางสิ่งก็ส่งคืนกลับไป ที่ไม่ได้รับไว้เลยจนสิ่งเดียวก็มี แต่ก็ไม่ถือกันว่า เป็นการดูถูก เพราะเป็นธรรมเนียมนิยมกันดังนั้น ส่วนคนใช้ที่นำสิ่งของไปนั้น เจ้าของงานต้องแถมพกให้ทุกราย
ต่อนี้ไปก็จัดกระบวนรับตัวเจ้าสาว คือ บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายชายจัดแจงสรรพสิ่งของเครื่องใช้ในพิธี แต่การที่ไปรับตัวเจ้าสาวนี้ ตัวเจ้าบ่าวเองหาได้ไปไม่ เป็นแต่เอาเสื้อตัว ๑ ของเจ้าบ่าวบรรจุลงในภาชนะใบ ๑ เอาใบทับทิมกับพันธุ์ธัญญาหารทั้ง ๕ ชะนิดโปรยลงบนเสื้อนั้นส่งไปแทน เรื่องที่เอาเสื้อไปแทนตัวเจ้าบ่าวนั้น เล่ากันสืบ ๆ มาว่า เพราะเคยมีเรื่องที่เจ้าสาวเห็นรูปร่างหน้าตาของเจ้าบ่าวน่าเกลียด ก็ไม่ยอมไปเป็นภรรยา ต่อมา คนชั้นหลังจึงคิดจัดเอาเสื้อของเจ้าบ่าวไปแทน และจัดฮวยเกี้ยว (แปดว่า คานหามของจีนอย่างหนึ่งมีเก๋งและเครื่องบัง) สำหรับเจ้าสาวนั่งคัน ๑ สำหรับวางเสื้อเจ้าบ่าวคันหนึ่ง สำหรับเถ้าแก่คัน ๑ สำหรับแชเนี่ยพั้ว (แม่สื่อ) คัน ๑ สำหรับสาวใช้คัน ๑ หรือ ๒ คัน เพราะฮวยเกี้ยวนั้นมีที่นั่งได้คนเดียว กระบวนพิธีนั้น มีคนจุดประทัดออกหน้า ถัดมาคนตีม้าล่อคู่ ๑ คนถือเชี่ยไป๊ (ป้ายประวัติยศศักดิ์ เขียนบอกประวัติเหล่ากอวงศ์สกุลตน เคยมียศศักดิ์อย่างใดสืบมา) หลายคู่ ถัดมาเป็นเครื่องเกียรติยศ เช่น กิมกวยอวดโป๊ว (กิมกวยนั้น ข้างหนึ่งเป็นรูปฟักทองมีด้ามยาว, อวดโป๊ว ข้างหนึ่งรูปคล้ายขวานด้ามยาว) ถือกันคนละอัน ถัดมามีโคมใหญ่คู่ ๑ เขียนแซ่ของเจ้าบ่าวไว้ที่ตัวโคม เป็นหนังสือเขียนด้วยสีแดงตัวโต ๆ ถัดมาก็เป็นฮวยเกี้ยวและคนถือกลดคัน ๑ คนถือบังแทรกคัน ๑ ถ้าเป็นขุนนางและคนมั่งมีแล้ว ก็หากองทหารมาเข้ากระบวนด้วย ครั้นกระบวนรับเจ้าสาวจะเคลื่อนจากบ้านเจ้าบ่าว เริ่มยิงปืนชัย ๓ นัด แล้วจึงออกเดิน กระบวนที่จัดไปรับเจ้าสาวนี้เป็นเกียรติยศอย่างแห่เจ้านาย โดยประเพณียกย่องกันว่า มนุษย์เราเกิดมาทั้งทีก็มีโชคลาภอยู่เพียง ๒ ประการ ประการที่ ๑ คือ ได้เป็นขุนนาง ประการที่ ๒ คือ แต่งงานกับภรรยา เพราะฉะนั้น เมื่อมีการแต่งงานบ่าวสาว จึงเป็นประเพณียอมให้ราษฎรทำพิธีดังกล่าวมานี้ในวันนั้น
ครั้นกระบวนเดินไปถึงบ้านเจ้าสาวแล้ว บิดามารดาผู้ปกครองหญิงจัดให้ญาติมีอายุสูงออกมารับแทน ผู้แทนจึงเชิญเถ้าแก่และพวกที่มารับเจ้าสาวเข้าไปในบ้าน เถ้าแก่ยกเอาเสื้อที่แทนตัวเจ้าบ่าวเข้าไปแสดงคำนับ แล้วบิดามารดาผู้ปกครองเจ้าสาวเชิญเถ้าแก่และคนที่มาด้วยกันนั้นเข้านั่ง จัดขนมทึงอี๊ (ขนมกลมเกลียว) เลี้ยงแขก ครั้นรับประทานเสร็จแล้ว ญาติผู้แทนฝ่ายหญิงจึงนำตัวเจ้าสาวออกมามอบให้เถ้าแก่ เจ้าสาวแต่งตัวสวมเครื่องยศกิ๋มอี่ สวมหมวกหงส์กวน (กิ๋มอี่ แปลว่าเสื้อยศปักใหมทอง, หงส์กวน แปลว่า หมวกยศมีหงส์ทองสลับอยู่กับภู่ดอกไม้) สวมรองเท้าถุงเท้า มือถือพัดและผ้าเช็ดหน้า เอาแพรแดงคลุมหน้า แต่งอย่างนางงิ้วที่เป็นฮูหยิน และบิดามารดาเจ้าสาวก็จัดแจงหาเครื่องใช้สอยต่าง ๆ ไปกับเจ้าสาวด้วย ถ้าฝ่ายเจ้าสาวเป็นคนมั่งมี ก็จัดหาเครื่องเรือนอย่างเอก คำจีนเรียกว่า ช่วนเทียมิ่น หรือซังหู่เก้จึง (ซังหู่เก้จึง แปลว่า เครื่องแต่งงาน ๒ สำรับ) คือ หีบบรรจุเครื่องนุ่งห่มเป็นจำนวนหลายสิบหีบ โต๊ะเก้าอี้ชุด ๑ เตียงนอน, โต๊ะล้างหน้า, โต๊ะเครื่องแป้ง, ตู้ไว้เสื้อผ้าใหญ่ ๔ ตู้ เล็ก ๔ ตู้, ถังหาบน้ำ, ถังอาบน้ำ, ถังบรรจุน้ำ, ถังอาจม และเครื่องทองรูปพรรณสำหรับแต่งตัวมีพร้อม ส่วนเครื่องที่นอนนั้นเป็นหน้าที่ข้างฝ่ายเจ้าบ่าวต้องจัดหาไว้.
เครื่องเรือนที่เป็นปานกลาง เรียกว่า งึ่นเทียมิ่น อย่างขนาดน้อยที่สุดเรียกว่า ปั้งไหลเก้จึง แม้บิดามารดาผู้ปกครองเจ้าสาวจะจนยากปานใดก็ดี เมื่อแต่งงานสั่งลูกสาวออกจากบ้านแล้ว จำเป็นต้องกระทำไปให้สมกับคตินิยม เพราะฉะนั้น การที่มีลูกเป็นหญิงจึงเป็นเครื่องหนักใจของผู้เป็นบิดามารดามาก คือ เลี้ยงจนเติบโตขึ้นแล้ว ยังต้องเสียเงินในเมื่อออกเรือนอีก เหตุนี้แหละ ชาวจีนจึงรักลูกชายมากกว่ารักลูกหญิง.
ขณะที่ญาติผู้แทนมอบตัวเจ้าสาวนั้น บิดามารดาผู้ปกครองเจ้าสาวหลบหลีกไปเสีย หาได้ออกมาพูดจาปราศรัยกับแขกไม่ ส่วนเข้าของทั้งมวญที่บิดามารดาฝ่ายหญิงให้แก่เจ้าสาว ก็ต้องจัดผู้คนแบกหามตามไปพร้อมกันกับเจ้าสาว พร้อมทั้งบัญชีจำนวนสิ่งของซึ่งเขียนลงได้ในเทียบมอบให้เถ้าแก่ไปด้วย
เมื่อเถ้าแก่รับตัวเจ้าสาวออกจากบ้าน ขณะนั้น มีแช่เนี้ยพั้วข้างฝ่ายเจ้าสาวเป็นผู้ซวยะสี่กู่ (แปลว่า อวยพร ๔ คำ) แล้วก็จัดแจงพะยุงเจ้าสาวเข้านั่งในฮวยเกี้ยว และสาวใช้เถ้าแก่แม่สื่อก็เข้านั่งคนละคัน กระบวนแห่ก็เคลื่อนออกเดินทันที เวลาที่เจ้าสาวจากบิดามารดาตน มักจะร้องไห้เสียก่อน จึงได้ออกเดิน ครั้นไปถึงบ้านเจ้าบ่าวแล้ว ขณะนั้น เจ้าบ่าวก็จัดแจงแต่งตัวสวมเสื้อผ้าเครื่องยศอย่างขุนนางออกมานอกบ้านคอยรับเจ้าสาว เมื่อคนหามวางฮวยเกี้ยวลงแล้ว เจ้าบ่าวก็เดินเข้าไปที่หน้าฮวยเกี้ยว เอาเท้าเตะคานเกี้ยว ๓ ที เถ้าแก่และแม่สื่อจึงเดินเข้าไปเปิดประตูฮวยเกี้ยวแล้วกล่าวคำอวยพร นางสาวใช้เข้าไปพะยุงเจ้าสาวออกมา เดินตามเจ้าบ่าวเข้าประตูบ้าน เถ้าแก่แม่สื่อก็ต้องอวยพรอีก การอวยพรเป็นหลายครั้งตามระยะของพิธีแต่งงาน ตกเป็นหน้าที่ของเถ้าแก่แม่สื่อทั้งสิ้น เช่น เวลาที่ไหว้เจ้าทีตี้ (เจ้าฟ้าและดิน) เวลาเข้านั่งโต๊ะรับประทาน เวลาจูงนางเข้าห้อง เป็นต้น ขณะนั้น มีบรรดาญาติมิตรพากันห้อมล้อมดูตัวเจ้าสาว แต่หาได้กั้นเรียกเอาค่าผ่านประตูไม่ พนักงานที่ติดตามมาก็ช่วยขนเครื่องเข้าของตามเข้าไปในบ้าน บิดามารดาผู้ปกครองฝ่ายชายก็ให้จัดโต๊ะกลางแจ้งสำหรับบูชาทีตี้ ของที่สำหรับเส้นไหว้มีหัวหมู, ห่าน, เป็ด, ไก่ แพะ, แกะ, กุ้งใหญ่ที่เรียกว่า เล่งแฮ้, ปลาตัวใหญ่นึ่ง รวม ๑๐ สิ่ง เรียกว่า จับแซ (สัตว์ ๑๐ ชะนิด) ขนม ๕ สิ่ง, อาหาร ๑ โต๊ะ, ขนมเข่ง, ขนมฟูขนาดโตเท่ากลองใหญ่ จุดเทียนใหญ่ทาสีแดงคู่ ๑ และธูป กระดาษเงินกระดาษทอง สุรา น้ำชามีพร้อม พอจัดเสร็จ จึงให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวแสดงพิธีเส้นไหว้พร้อมกัน ขณะนั้น เถ้าแก่แม่สื่อเข้าไปแนะนำให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวแสดงคำปฏิญาณและยืนขึ้นทำความเคารพต่อกันเป็นพิธีแล้ว เถ้าแก่แม่สื่อก็อวยยพรอีกครั้ง ๑ และนำไปนั่งณกลางเรือน ในที่นั้น ได้จัดโต๊ะอาหารไว้โต๊ะ ๑ สำหรับให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้านั่งรับประทาน ส่วนการเลี้ยงแขกมิได้เลี้ยงกันในวันนี้ ไปเลี้ยงกันในวันรุ่งขึ้น ถ้าเทียบกับพิธีของไทย วันนี้ต้องเป็นวันที่เรียกว่า สุกดิบ เมื่อเถ้าแก่แม่สื่อเชิญเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้านั่งโต๊ะ แม่สื่อต้องอยู่ข้างเคียงคอยปฏิบัติเจ้าสาว คือ รินสุรา ๒ ถ้วย และหยิบอาหารวางไว้ที่ภาชนะตรงหน้า เจ้าบ่าวรับประทานสิ่งใดก็หยิบตาม แต่เจ้าสาวเวลานั้นยังมีแพรแดงปิดหน้าอยู่หาได้ปลดออกไม่ เพราะมีความกระดาก ทั้งอาหารที่แม่สื่อหยิบวางไว้ก็หาได้รับประทานไม่ ขณะที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวนั่งโต๊ะอยู่นั้น วงศ์ญาติและเพื่อนบ้านพากันมามุงดูจนเต็มที่ ส่วนแม่สื่อก็หยิบกับแกล้มแล้วก็ซวยะสี่กู่เรื่อยไป พอได้เวลา เถ้าแก่ก็นำเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าห้อง เวลาที่เข้าห้องจะต้องรับประทานยิบปั้งอี๊ (ขนมกลมเกลียวเข้าห้องกัน) คนละถ้วย เถ้าแก่แม่สื่อพาเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าไปอยู่ในห้องและให้ศีลให้พร แล้วก็รีบออกจากห้องทันที ส่วนผู้คนที่ฝ่ายหญิงให้แบกหามเข้าของมานั้น ฝ่ายชายจักต้องแจกของชำร่วยให้ทุกคน
คืนที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวอยู่ด้วยกันในห้อง ถ้าเป็นคนสามัญ มักมีเพื่อนฝูงเข้าไปกระทำการรบกวนอยู่ในห้องมิให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวหลับนอน คือ เข้าไปตั้งวงเล่นไพ่หรือสัพยอกหยอกเย้าต่าง ๆ
วันรุ่งขึ้น เถ้าแก่จัดแจงพาเจ้าบ่าวเจ้าสาวไปไหว้บิดามารดาและญาติอันสนิท แล้วจึงพาไปไหว้ที่บูชาปู่ย่าด้วยเครื่องขนม เรียกว่า ก๋วยเทีย (ห้องบูชาขนม) ครั้นกระทำพิธีไหว้เสร็จแล้ว นับว่า เจ้าสาวได้เป็นสะไภ้อันถูกต้อง เวลาเช้าวันนั้น เมื่อจัดอาหารมาตั้งโต๊ะให้บิดามารดาผู้ปกครองรับประทาน เจ้าสาวต้องตักข้าวส่งให้บิดามารดาของสามีรับประทาน จีนเรียกว่า คั่งปึ้ง และคอยปฏิบัติอยู่ข้างเคียง ครั้นรับประทานเสร็จ มารดาของสามีก็พาลูกสะใภ้เข้าห้องน้ำ ให้ซักเสื้อผ้าที่ลูกสะใภ้สวมนอนในคืนแรก และต้องเอามาพิศูจน์ต่อหน้ามารดาของสามีว่า ตนยังเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่ และต้องพาเจ้าสาวเข้าครัว มอบธุระหน้าที่แม่เรือนให้ลูกสะใภ้รับการงานต่อไป ในวันนี้เป็นวันทำโต๊ะอาหารเลี้ยงแขกตามที่ได้ออกเทียบเชิญมา เมื่อแขกมาประชุมพร้อมแล้ว เจ้าบ่าวเจ้าสาวเชิญแขกที่เป็นญาติสนิทและมีอายุสูงหรือมียศศักดิ์เข้านั่งชั้นพิเศษ ถัดมาเป็นที่สำหรับครูบาอาจารย์เป็นชั้น ๆ ไป ครั้นแขกเข้านั่งที่พร้อมกันแล้ว เจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องเข้าไปรินสุราให้แขกคนละถ้วย แล้วคนใช้จึงรับปฏิบัติแทนจนเสร็จ แขกทั้งหลายรับประทานแล้ว ก็อวยพรให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว เมื่อแขกลากลับไป จะต้องจัดเงินห่อกระดาษแดงไว้ชำร่วยให้เก่คนที่ติดตามหามเกี้ยวนั้นทุกรายไป
ต่อจากวันแต่งงานแล้ว ในวันที่ ๓ ข้างเจ้าบ่าวจะต้องจัดอาหาร ๑ โต๊ะ ขนม ๕ สิ่ง และหัวหมูเป็ดไก่รวม ๑๐ สิ่ง ไปให้บิดามารดาผู้ปกครองเจ้าสาว
ครั้นถึงกันแซยิดของเจ้าบ่าว บิดามารดาผู้ปกครองเจ้าสาวจะต้องจัดขนมและสิ่งของต่าง ๆ มาทำขวัญลูกเขยอีก ตั้งแต่วันแต่งงานไปจนครบเดือน ๑ ฝ่ายบิดามารดาผู้ปกครองของหญิงต้องจัดหาขนมต่าง ๆ ส่งไปให้ลูกเขยอีกครั้ง ๑
อนึ่ง หญิงที่แต่งงานไปอยู่กับสามีจะต้องใช้แซ่ของสามีนำหน้า เช่น แซ่เดิมของหญิงแซ่เตีย ไปได้สามีแซ่ตัน ให้เรียกว่า ตันเตียสี เมื่อแต่งงานล่วงแล้ว ๔ เดือน จึงยอมอนุญาตให้ไปเยี่ยมเยียนบิดามารดาของหญิงได้
ลักษณะแต่งงานที่กล่าวมาในตอนหลังนี้ แต่งตามที่สืบทราบจากจีนผู้หลักผู้ใหญ่ อาจพลาดพลั้งและไม่ใช่ประเพณีทั่วไป