เสวกเอก พระยาสมบัตยาธิบาล (สาย สายะเสวี)

คำนำ

มหาเสวกโท พระยาเสถียรสุรประเพณี เปนเจ้าภาพงานศพเสวกเอก พระยาสมบัตยาธิบาล (สาย สายะเสวี) เจ้ากรมปลัดบาญชี กระทรวงวัง ประสงค์จะพิมพ์หนังสือแจกในงานศพสักเรื่อง ๑ มาแจ้งความณหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือให้ ข้าพเจ้าจึงเลือกตำราพระราชพิธี ๒ เรื่อง คือ พระราชพิธีจักรพรรดิราชาธิราช เรื่อง ๑ พระราชพิธีอาพาธพินาศ เรื่อง ๑ รวมจัดเปนหนังสือในแพนกลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ นับเปนภาคที่ ๘ ให้พระยาเสถียรสุรประเพณีพิมพ์ตามประสงค์

พระราชพิธีจักรพรรดิราชาธิราชนั้นเปนพิธีจรสำหรับเสดาะพระเคราะห์ ได้เคยทำในกรุุงรัตนโกสินทรนี้ครั้ง ๑ ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๕๐ กล่าวในบานแพนกว่า ไม่ทรงสบายพระราชหฤไทย จงให้ทำพิธีเสดาะพระเคราะห์ สอบดูเหตุการณ์ในหนังสือพระราชพงษาวดารได้ความว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ ซึ่งเปนพระราชธิดาที่ทรงพระเมตตามาก สิ้นพระชนม์ภายหลังวันที่ทำพิธีไม่ถึงเดือน จึงสันนิษฐานว่า ความที่ไม่ทรงสบายพระราชหฤไทยครั้งนั้น เห็นจะเนื่องแต่เหตุที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอประชวรหนักด้วยอย่าง ๑ นอกจากนั้น บางทีจะยังมีเหตุอื่นอิกก็เปนได้

พระราชพิธีอาพาธพินาศนั้นเปนพิธีจรสำหรับทำในคราวเกิดไข้ระบาทว์ เช่น อหิวาตกะโรค เปนต้น ปรากฏในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เคยทำในกรุงรัตนโกสินทรนี้ ๒ ครั้ง ครั้งแรก ทำเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๔๓ ในรัชกาลที่ ๑ จะเปนเพราะเกิดความไข้อย่างใด ตรวจในหนังสือพระราชพงษาวดารแลหนังสือพระราชวิจารณ์ก็หาปรากฏไม่ มีอยู่แต่ตัวตำรา คือ ที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ครั้งที่ ๒ ทำเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๖๓ ในรัชกาลที่ ๒ คราวเกิดอหิวาตกะโรคยุคใหญ่ครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร ลักษณการพิธีอาพาธพินาศที่ทำครั้งหลังนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์โดยพิศดาร ในรัชกาลที่ ๓ เกิดอหิวาตกะโรคยุคใหญ่เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๙๒ อิกครั้ง ๑ แต่หาได้ทำพระราชพิธีอาพาธพินาศไม่

พระราชพิธีทั้ง ๒ อย่างที่กล่าวมา นับว่า เปนพระราชพิธีที่เลิกขาดแล้ว คงมีอยู่แต่ตัวตำรา ยังไม่ได้เคยพิมพ์ จึงเห็นว่า ควรจะพิมพ์รักษาตำราไว้ แลเห็นว่า จะเปนประโยชน์ในทางความรู้แก่ผู้อ่านด้วย

ประวัติพระยาสมบัติยาธิบาล

เสวกเอก พระยาสมบัตยาธิบาล (สาย สายะเสวี) เกิดในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ เดิมถวายตัวเปนมหาดเล็กในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ ทรงฝึกสอนวิชาความรู้มาจนอายุได้ ๒๒ ปี จึงเข้ารับราชการในกระทรวงวังเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้เปนตำแหน่งเสมียนในพนักงานปลัดบาญชี ตั้งแต่ชั้นแสมียนสามัญเลื่อนขึ้นโดยลำดับจนถึงชั้นเสมียนเอก

ถึง พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนหลวงพิพิธมณเฑียร ตำแหน่งเจ้ากรมรักษาพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่คงรับราชการอยู่ในพนักงานปลัดบาญชี กระทรวงวัง ด้วยอิกแพนก ๑

ถึง พ.ศ. ๒๔๕๐ ย้ายจากน่าที่รักษาพระมหาปราสาทมาเปนตำแหน่งปลัดกรมปลัดบาญชี กระทรวงวัง

ถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนพระราไชสวริยาธิบดีเมื่อ พ ศ. ๒๔๕๔ แล้วเลื่อนเปนพระยศเสสวราชเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเปนพระยาสมบัตยาธิบาล รับราชการในกรมปลัดบาญชี กระทรวงวัง ตลอดมาจนได้เปนตำแหน่งเจ้ากรม

พระยาสมบัตยาธิบาลได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์นับแต่ชั้นสูง คือ เครื่องราชอิศริยาภรณ์ตริตาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ ๓ ตริตาภรณ์มงกุฎสยาม ชั้นที่ ๓ เหรียญรัตนาภรณ์ในรัชกาลปัจจุบันนี้ ชั้นที่ ๔ เหรียญราชรุจิทอง ทั้งในรัชกาลที่ ๕ แลในรัชกาลปัจจุบันนี้ เหรียญจักรพรรดิมาลา แลเหรียญที่ระฦกในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ตามบันดาศักดิ์

พระยาสมบัติยาธิบาล (สาย สายะเสวี) ป่วยเปนวรรณโรคมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๑ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๒ คำนวณอายุได้ ๕๐ ปี สิ้นเนื้อความตามประวัติเพียงนี้.

ช้าพเข้าขออนุโมทนากุศลบุญราษีทักษิณานุปทานซึ่งมหาเสวกโท พระยาเสถียรสุรประเพณี ได้ทำการปลงศพเสวกเอก พระยาสมบัตยาธิบาล แลได้พิมพ์ตำราพระราชพิธี ๒ เรื่องนี้ให้แพร่หลาย เชื่อว่า ท่านทั้งหลายที่ได้รับไปอ่านคงจะอนุโมทนาทั่วกัน.

  • ลายมือชื่อของกรมพระดำรงราชานุภาพ สภานายก
  • หอพระสมุดวชิรญาณ
  • วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑