พระศาสดาเมื่อทรงประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภทานบารมีของพระองค์ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า มหาพฺรหฺมา มหิทฺธิกา ดังนี้ ความมีอยู่ว่า วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ประชุมสนทนากันในโรงธรรมว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระตถาคตเจ้า บำเพ็ญพระบารมีมีปฐมทานเป็นอาทิ ได้ตรัสรู้บรมสัมโพธิญาณ น่าอัศจรรย์ ทานบารมี ย่อมเป็นปัจจัยให้ได้ซึ่งสัพพัญญุตญาณอย่างยอดเยี่ยม พระศาสดา เสด็จมาตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ ครั้นภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ด้วยเรื่องชื่อนี้ จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตมีอัธยาศัยยินดีในทานมิได้เบื่อหน่าย เมื่อยังแสวงหาโพธิญาณอยู่นั้น ถึงว่าจะต้องทุกข์ยากอย่างไร ย่อมไม่ละเสียซึ่งทานเลย ดังนี้แล้ว ทรงนิ่งอยู่ อันภิกษุทั้งหลายใคร่จะฟังทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดงว่า ในอดีตกาล พระราชาพระนามว่ายสะ ผ่านราชสมบัติโดยธรรมสม่ำเสมอในโปตบุรีในอสุกรัฐ สมบูรณ์ด้วยพลพาหนะ มั่งคั่งไปด้วยนานารัตนะ พระราชเทวีมีนามว่าสุตตกิตตี ได้เป็นอัครมเหสีแห่งพระเจ้ายสราช คราวนั้น ยังมีพระมหาราชาพระนามว่าอังกุระ ครองราชสมบัติในโลมานทวีปใกล้ฝั่งสมุทร พระอัครมเหสีของพระเจ้าอังกุระมีนามว่าอนังคเสนา พระเจ้ายสราชและพระเจ้าอังกุรมหาราชสองพระองค์นั้น เป็นทองแผ่นเดียวกัน ด้วยว่า สุตตกิตตีราชเทวี เป็นกนิษฐภคินีของพระเจ้าอังกุรมหาราช มีรูปสิริวิลาสทรงปัญจกัลยาณีมีศีล พระเจ้าอังกุรมหาราชา ได้ส่งพระกนิษฐภคินีไปถวายพระเจ้ายสราชพร้อมด้วยนาวาพันหนึ่งอันบรรทุกเต็มไปด้วยสัตตรัตนะ กับราชบริวารเป็นอันมาก พระสุตตกิตตีราชเทวีนั้น ได้เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้ายสราชยิ่งนัก พระเจ้ายสราช ทรงเสวยสิริราชสมบัติกับพระสุตตกิตตีเทวีนั้น ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายจุติจากเทวโลก มาถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้ายสราช ขณะเมื่อพระโพธิสัตว์ปฏิสนธินั้น พระราชเทวี มีประสงค์จะบริจาคทรัพย์บำเพ็ญทานวั้นละหกแสน พระเจ้ายสราชจึงรับสั่งให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือ ที่หน้าพระลานหลวง ๑ แห่ง ท่ามกลางพระนคร ๑ แห่ง ใกล้พระทวารนคร ๔ แห่ง พระราชเทวีทรงบริจาคทรัพย์วันละ ๖ แสน บำเพ็ญทานเป็นนิตย์ พระราชเทวี ทรงพระครรภ์ถ้วนกำหนดทศมาสแล้ว ก็ประสูติพระราชโอรสผู้สมบูรณ์ด้วยธัญญบุญลักษณะ ผู้มีฝ่าพระหัตถ์ปรากฎเหมือนรูปสังข์ จึงพระราชทานนามว่า มหาสังขปัตตกุมาร ฝ่ายพระเจ้าอังกุรมหาราช ซึ่งเสวยราชสมบัติในโลมานทวีปกับด้วยอนังคเสนาราชเทวี ทรงมีพระราชธิดาองค์หนึ่งพระนามว่ารัตนวดี เป็นปัญจกัลยาณี มีศีล งามดังเทพอัปสรสวรรค์ พระเจ้าอังกุรราชบิดา ทอดพระเนตรพระราชธิดานั้นเจริญวัย ใคร่จักประทานแก่พระมหาโพธิสัตว์ จึงให้ช่างเขียนวาดรูปพระราชธิดาลงในแผ่นทองคำ แล้วให้ทำธำมรงค์ ๒ วง ประดับด้วยปัทมราชวง ๑ ประดับด้วยอินทนิลวง ๑ ให้จารึกพระนามพระโพธิสัตว์ลงไว้ แล้วให้จารึกสุภอักษรโดยรีบด่วนว่า หม่อมฉัน จักถวายพระราชธิดากับราชสมบัติแด่พระราชโอรสของพระองค์ ดังนี้แล้ว ก็มอบให้ราชทูตนำไปถวายพระเจ้ายสราช พระเจ้ายสมหาราช ทรงอ่านราชสาส์นและสดับคำที่ราชทูตกราบทูลและทรงทอดพระเนตรรูปสิริแห่งรัตนวดีเสร็จแล้ว ทรงมีพระหฤทัยผ่องแผ้ว แล้วประทานพระธำมรงค์ทั้งคู่กับรูปแผ่นทองคำแด่พระโพธิสัตว์ แล้วให้วาดรูปพระโพธิสัตว์ลงในพระสุพรรณบัฏ แล้วส่งให้แก่ราชทูตของพระเจ้าโลมานทวีปพร้อมด้วยพันอเนกราชบรรณาการ กาลต่อมา พระเจ้ายสราชมีรับสั่งให้พระโพธิสัตว์พร้อมด้วยมหาชนบริวาร ออกจากนครด้วยราชสัมภาระยิ่งใหญ่ ไปยังเมืองโลมานทวีป พระเจ้าอังกุรราช ทรงทำมงคลวิธีทั้งปวงมีประการมากอย่าง แล้วเชิญพระมหาโพธิสัตว์ให้ประทับเหนือกองแก้ว แล้วอภิเษกให้ครองราชสมบัติในโลมานทวีปกับพระรัตนวดี เมื่อเสร็จการราชาภิเษกแล้ว เทพยดาจึงนำพระเจ้ายสราช ไปส่งยังโปตปุรนคร ด้วยปุบผวิมานอีก พระมหาโพธิสัตว์ครองราชสมบัติโดยธรรมสม่ำเสมอ ทรงบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น ครั้นสิ้นพระชนม์แล้วมีสวรรค์เป็นไปเบื้องหน้า


งานนี้เป็นงานดัดแปลง (อาทิ งานแปลวรรณกรรม) ดังนิยามไว้ในมาตรา ๔ วรรค ๑๔ แห่ง พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ และบัดนี้ เป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะการคุ้มครองลิขสิทธิ์สิ้นอายุลงตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ซึ่งว่า

"ภายใต้บังคับมาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒ ลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย

"ในกรณีที่มีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ร่วม และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย

"ถ้าผู้สร้างสรรค์ หรือผู้สร้างสรรค์ร่วม ทุกคนถึงแก่ความตาย ก่อนที่ได้มีการโฆษณางานนั้น ให้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

"ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก"