หนังสือกระทรวงสาธารณสุข ที่ สธ 59/3175
- ด่วนที่สุด
- ที่ สธ ๕๙ / ๓๑๗๕
- กระทรวงสาธารณสุข
- ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี ๑๑๐๐๐
เรื่อง | ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ | |
เรียน | เลขาธิการคณะรัฐมนตรี |
สิ่งที่ส่งมาด้วย | ๑. โครงการพัฒนาวัคซีนต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำและเตรียมความพร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) | จำนวน ๙๐ ชุด | ||
๒.สำเนาหนังสืองบประมาณ ที่ นร ๐๗๒๓/๑๗๒๙๒ ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๓ | จำนวน ๙๐ ชุด | |||
๓.รายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๓ | จำนวน ๙๐ ชุด |
ด้วยกระทรวงสาธารณสุขขอเสนอเรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ มาเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยเรื่องนี้เข้าข่ายที่จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๔ (๑) เรื่องที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีหรือให้ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (๑๑) เรื่องที่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินนอกเหนือจากที่ได้รับอนุมัติไว้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม รวมทั้งระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม รวมทั้งระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. ๒๕๖๒ รวมทั้งเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติในด้าน (๑) การเมือง การต่างประเทศ และความมั่นคง เพื่อพร้อมรับมือกับปัญหาความมั่นคงและภัยสุขภาพอย่างบูรณาการภายในประเทศ รวมทั้งองค์กรภาครัฐและที่มิใช่ภาครัฐให้บ้านเมืองมีความมั่นคงในทุกมิติและทุกระดับ
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
๑. เรื่องเดิม
๑.๑ ความเป็นมาของเรื่องที่เสนอ
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังพบอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ข้อมูล ณ วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๓ มีผู้ป่วยยืนยันกว่า ๒๓.๔๔ ล้านคน เสียชีวิตกว่า ๘๐๐,๐๐๐ คน ทั้งนี้ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มแพร่เข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ การสูญเสียชีวิตและความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารแห่งประเทศไทยได้สรุปประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๖๓ ที่ร้อยละ -๕.๓ และสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่ามหาศาล อาจสูงถึง ๕.๖ พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ ๑.๑๑ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (ข้อมูลจาก ASEAN Development Bank) ภาคธุรกิจประสบปัญหาจนต้องปิดกิจการและลดจำนวนพนักงาน ส่งผลให้มีประชาชนชั้นกลางและประชากรกลุ่มเปราะบางจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบต่อความมั่นคงในการดำรงชีวิตพื้นฐาน
แม้ว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างดียิ่ง แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดการระบาดของโรคได้ในระลอกที่ ๒ เนื่องด้วยยังมีผู้ป่วยจำนวนมากทั่วโลก หากสถานการณ?การระบาดไม่สามารถยุติได้ในระยะเวลาอันใกล้ การเปิดประเทศเพื่อเดินหน้าสู่การดำเนินชีวิต New Normal คู่ขนานไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงเป็นไปได้ยาก และรัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือ เพื่อประคองกิจการต่าง ๆ ในประเทศให้สามารถดำเนินการต่อไปนี้ ดังนั้น วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 จึงเป็นเครื่องมือสำคัญ เป็นนวัตกรรมทางสุขภาพและเป็นยุทธปัจจัยที่มีประสิทธิภาพสูงที่จะเป็นคำตอบในการป้องกันควบคุมโรค และเป็นความหวังของทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย การเร่งรัดให้มีวัคซีนใช้ในประเทศเร็วขึ้นจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกกับเศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
แผน Blueprint เพื่อการเข้าถึงวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของประชาชนไทย ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๓ ซึ่งถือเป็นกรอบนโยบายในการบูรณาการประสานความรา่วมมือระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยดำเนินงานตามยุทธศาสตร์สำคัญ ๒ ด้าน ได้แก่ ๑) การนำวัคซีนต้นแบบที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศมาทดสอบในประเทศไทย และขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิต (เป้าหมายระยะสั้น และระยะกลาง) และ ๒) พัฒนาวัคซีนต้นแบบในประเทศไทยตั้งแต่ต้นน้ำ (เป้าหมายระยะกลาง และระยะยาว) ในการบรรลุเป้าหมายการเข้าถึงวัคซีนให้ทันท่วงที และสร้างขีดความสามารถของประเทศในการพัฒนาและผลิตวัคซีนเพื่อให้ประชาชนไทยได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด
๑.๒ ผลการดำเนินการที่ผ่านมา
กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ให้การสนับสนุนและส้ร้างความร่วมมือกับสถาบันวิจัยพัฒนา และหน่วยผลิตวัคซีนในประเทศ ตลอดจนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อส่งเสริมการผลิตวัคซีนใช้ได้เงอในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ นอกจากนี้ ยังได้มีการเจรจาสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทั้งจากประเทศจีน และยุโรป ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตที่มีแนวโน้มจะได้วัคซีนมาใช้ภายในต้นปี พ.ศ. ๒๕๖๔ มีความเป็นไปได้ในทางเลือกที่รัฐบาลควรลงทุน เพื่อสร้างโอกาสให้ประเทศไทยก้าวข้ามสถานการณ์การระบาดได้อย่างก้าวกระโดด เนืื่องจากการมีวัคซีนใช้เร็วขึ้น ๑ เดือน จะช่วยให้ประเทศสามารถสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประมาณ ๒.๕ แสนล้านบาท และยังสร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจ รวมทั้งความเชื่อมั่นของประชาชนไทยด้วย
วัคซีนโควิด 19 หลายชนิดที่มีการพัฒนาในปัจจุบัน วัคซีนกลุ่ม Adenovirus เป็นที่ยอมรับในระดับโลกและมีการพัฒนาที่ใกล้สำเร็จ โดยเฉพาะวัคซีนชนิด Chimpanzee Adenovirus ที่พัฒนาโดย Oxford University ร่วมกับผู้ผลิตคือบริษัท AstraZeneca มีผลการวิจัยในมนุษย์ระยะที่ ๒ ที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้อย่างดี และขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยในมนุษย์ ระยะที่ ๓ คาดว่าหากวัคซีนแสดงผลในการป้องกันโรคจะสามารถได้รับอนุมัติทะเบีบยนที่ยุโรปภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้ผลิตที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัท AstraZeneca และคาดว่าจะสามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี และมีผลิตภัณฑ์วัคซีนให้ประชาชนไทยได้ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ด้วยกำลังการผลิตวัคซีน ๒๐๐ ล้านโด๊สต่อปี ซึ่งจะเพียงพอต่อการใช้ในประเทศ
๒. เหตุผลความจำเป็นที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี
เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ อย่างทั่วถึง เป็นธรรม ในเวลาใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ ในโลก รวมถึงการลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมของประเทศได้อย่างรวดเร็วขึ้น กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้จัดทำโครงการพัฒนาวัคซีนต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำและเตรียมความพร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อเตรียมหน่วยผลิตวัคซีนในประเทศให้มีความพร้อมสำหรับการผลิตวัคซีนชนิด Adenovirus ด้วยกำลังการผลิต ๒๐๐ ล้านโด๊สต่อปี รวมทั้งการสร้างขีดความสามารถของประเทศโดยการพัฒนาวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำ โดยขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง วงเงินเกินกว่า ๑๐๐ ล้านบาท ซึ่งตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๙ (๓) ระบุว่า กรณีวงเงินที่เห็นควรอนุมัติเกินกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท สำนักงบประมาณจำเสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว สำนักงบประมาณจะแจ้งให้หน่วยรับงบประมาณนำเรื่องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี
๓. ความเร่งด่วนของเรื่อง
กระทรวงสาธารณสุขขอให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อการป้องกันควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ทันเวลา และลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมในภาพรวมของประเทศ
๔. สาระสำคัญ ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
๔.๑ ประชาชน ลดป่วย ลดตาย และปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
๔.๒ ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ช่วยลดผลกระทบทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สังคม และเพิ่มความมั่นคงของประเทศในระยะยาว
๔.๓ การสนับสนุนงบประมาณจะช่วยในการสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมยาชีววัตถุในประเทศให้สามารถผลิตวัคซีนโควิด 19 ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เองตั้งแต่ต้นน้ำ นอกจากจะสามารถผลิตวัคซีนตอบสนองในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือภาวะระบาดของของโรติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อการผลิตวัคซีนในสถานการณ์การระบาดในอนาคตได้ด้วย ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพจากการพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
๔.๔ เพื่อให้การป้องกันควบคุมการระบาดของโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐.- บาท (หนึ่งพันล้านบาทถ้วน) เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันหรือแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย๕. ข้อเสนอของส่วนราชการ
กระทรวงสาธารณสุขขอเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐.- บาท (หนึ่งพันล้านบาทถ้วน) ในลักษณะเงินอุดหนุนให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อให้การสนับสนุนหน่วยงานเครือข่ายการพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศไทยในการเพิ่มศักยภาพการผลิตวัคซีนให้พร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด 19 และการสร้างขีดความสามารถของประเทศโดยการพัฒนาวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำ
จึงเรียนมาเพื่อโปรดนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
- ขอแสดงความนับถือ
- อนุทิน ชาญวีรกุล
- (นายอนุทิน ชาญวีรกุล)
- รองนายกรัฐมนตรี
- และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
- โทร ๐ ๒๕๘๐ ๙๗๒๙-๓๑ ต่อ ๕๐๐
- โทรสาร ๐ ๒๕๘๐ ๙๗๓๒
- ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ somruedee.cnvi.go.th
- ผู้ประสานงาน สมฤดี จันทร์ฉวี
- โทรศัพท์เคลื่อนที่ ๐๘ ๑๙๐๗ ๔๘๑๘
บรรณานุกรม
แก้ไขงานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"