หนังสือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ สม 0008/86
๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
ด่วนที่สุด | |
ที่ สม ๐๐๐๘/๘๖ | คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยนชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรตฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ชั้น ๖–๗ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๑๐ |
เรื่อง | ข้อห่วงใยต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมตัวและดำเนินคดีแก่ผู้ชุมนุมในสถานการณ์การชุมนุม | |
เรียน | ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ | |
ตามที่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลในการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา ซึ่งได้เกิดกรณีต่าง ๆ เช่น การจับกุมบุคคลในยามวิกาล การจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยเจ้าหน้าที่แต่งกายนอกเครื่องแบบ การใช้ยานพาหนะที่มิใช่ยานพาหนะของราชการในการจับกุม รวมถึงการจับกุมและการอายัดตัวผู้ต้องหาเพื่อการดำเนินคดีแบบต่อเนื่อง จนทำให้เกิดข้อเรียกร้องจากผู้ถูกจับกุม ตามที่ปรากฏเป็นข่าวจากสื่อมวลชนนั้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความกังวลต่อการดำเนินการดังกล่าว โดยเฉพาะการจับกุมดำเนินคดีแก่ผู้ชุมนุมที่เป็นเด็กและเยาวชน โดยที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ได้รับรองหลักการเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย (Principle of legality) ในการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลไว้ว่า ในการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลนั้น แม้จะเป็นการดำเนินการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวจะต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม (Appropriate) ยุติธรรม (Justice) คาดการณ์ได้ (Predictable) และสอดคล้องกับกระบวนการอันควรตามกฎหมาย (Due process of law) ประกอบกับการดำเนินการใด ๆ ของรัฐจักต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงขอให้การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับกุมและดำเนินคดีแก่ผู้ชุมนุมเป็นไปด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงหลักการสิทธิมนุษยชนสากลดังกล่าวข้างต้น เพื่อมิให้กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคล หรือกระทบให้น้อยที่สุดและเท่าที่จำเป็น และควรชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกี่ยยวข้องกับการจับกุมและการดำเนินคดีให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
- ขอแสดงความนับถือ
- (นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์)
- กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทน
- ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
บรรณานุกรม
แก้ไข- สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. (2563, 3 พฤศจิกายน). กสม. มีข้อห่วงใยด่วนถึง ผบ.ตร. ต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมตัวและดำเนินคดีแก่ผู้ชุมนุม. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/nhrct/photos/a.165030680323328/1696801273812920/
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"