หนังสือสัญญากรุงเทพมหานครกับกรุงอังกริษเปนทางไมตรีค้าขายกัน/ส่วนที่ 1

ศุภมัศดุ จุลศักราช ๑๒๑๗ ปีเถาะ สับต
ความเจริญงามจงมีแก่บ้านเมืองเทิญ ๚ะ

ครั้งนี้ มีทูตอังกฤษมาแต่พระนางซึ่งเปนใหญ่เปนเจ้าราชอาณาจักรอันผสมกัน คือ ทวีปบริตเตนใหญ่ แลทวีปอิริลานด์ แลที่อื่น ๆ อันขึ้นแก่ราชอาณาจักรนั้น เข้ามาฃอทำสัญญาทางพระราชไมตรีแลการค้าขายกับกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยา จึ่งพระบาทสมเด็จพระบรเมนทรมหามกุฏ สุทธสมมติเทพยพงษวงษาดิศวรกระษัตริย์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาษ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลพระบาทสมเด็จพระบวเรนทราเมศวร์มหิศวเรศร์รังสัน มหันตวรเดโชไชยมโหฬารคุณอดุลย์เดช สรรพเทเวศรานุรักษ์ บวรจุฬจักรพรรดิราชสังกาษ บวรธรรมิกราชบพิตร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สองพระองค์ทรงเหนชอบกับราชดำริห์พระนางเปนเจ้าเปนใหญ่ในทวีปบริตเตนใหญ่แลอิริลานด์ รว่มพระราชประสงค์ทำหนังสือสัญาทางไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษเมืองบริตเตนอิริลานด์ เพื่อจะให้มีผลประโยชน์แก่ราษฎรอยู่ใต้บังคับไทแลคนอยู่ในบังคับอังกฤษ จัดแจงการทำมาหากินค้าขายให้มีประโยชน์เรียบรอ้ย เพราะเหตุนี้ จึ่งได้ตั้งพระไทยจะทำหนังสือสัญาไมตรีฅ้าขาย จึ่งได้ตั้งเสนาบดีให้มีอำนาจทังสองฝ่าย ๆ พระเจ้าแผ่นดินเมืองบริตเตนอิริลานด์ ตั้งเซอยอนโบวริงเปนขุนนางลูกขุนผู้ใหญ่ ฝ่ายพระบาทสมเด็จบรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทังสองพระองค์ พร้อมกันกับความคิดพระราชวงษานุวงษแลข้าทูลลอองธุลีพระบาททังปวง มอบความพระราชดำริห์แลพระราชประสงค์ให้พระเจ้านอ้งยาเธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท มาประชุมแทนพระราชวงษานุวงษ แล้วโปรดเก้ลาโปรดกระหม่อมให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาปยุรวงษ วรุตมพงษนายก สยามดิลกโลกานุปาลนนารถ สกลราชวราณาจักรราธิเบนทร บรเมนทรมหาราชานุกูล สรรพกิจมูลมเหศวรเชฐามาตยาธิบดี ตรีสรณรัตนธาดา อดุลย์เดชานุภาพบพิตร ซึ่งโปรดเก้ลาโปรดกระหม่อมให้มีอาญาสิทธิบังคับบันชาได้สิดขาดทั่วทังพระราชอาณาจักร กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ นรเนตรนารถราชสุริยวงษ สกุลพงษปดิษฐา มุขมาตยาธิบดี ไตรสรณศรีรัตนธาดา สกลมหารัชชาธิเบนทร์ บรเมนทรมหาราชวโรปรการ มโหฬารเดชานุภาพบพิตร ซึ่งโปรดเก้ลาโปรดกระหม่อมให้มีอำนาจบังคับบันชาทั่วทังพระนคร กับเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ สมันตพงษพิสุทธิ มหาบุรุษรัตโนดม ผู้ว่าที่สมุหพระกลาโหม ผู้สำเรจราชการบังคับบันชาหัวเมืองชายทเลปากใต้ฝ่ายตวันตก กับเจ้าพระยาผู้ช่วยสำเรจราชการกรมท่า เปนผู้สำเรจราชการบังคับบันชาหัวเมืองฝ่ายตวันออก ทัง ๕ เปนประธาน ฝ่ายเสนาบดีไทก็ได้ส่งพระราชลัญจกร ฝ่ายขุนนางอังกฤษได้ส่งหนังสือเจ้าวิกตอเรียซึ่งให้เข้ามาทำหนังสือสัญากับไท เหนถูกตอ้งพร้อมกันทังสองฝ่าย ได้ตกลงกันตามข้อสัญาที่เขียนไว้สืบต่อไปข้างน่า ๚ะ

ข้อว่า ตั้งแต่นี้ไป พระเจ้าแผ่นดินกรุงบริตเตนอิริลานด์กับพระเจ้าแผ่นดินที่จะสืบวงษต่อไปภายน่า กับดว้ยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทังสองพระองค์ ทังสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินไทที่จะสืบพระราชอิศริยยศต่อไปภายน่า ให้มีไมตรีรักษใคร่กันราบคาบไปชั่วฟ้าแลดิน แต่บันดาคนที่อยู่ในบังคับอังกฤษซึ่งเข้ามาอยู่ณกรุงเทพมหานคร เสนาบดีฝ่ายไทก็จะชว่ยบำรุงรักษาให้อยู่เปนศุขสบาย ให้ได้ค้าขายโดยสดวก มิให้ผู้หนึ่งผู้ใดฝ่ายไทข่มเหงเบียดเบียน แต่บันดาคนที่อยู่ในบังคับไทที่จะไปอยู่ในแดนอังกฤษ ขุนนางอังกฤษก็จะช่วยบำรุงรักษาให้อยู่เปนศุขสบาย ให้ได้ค้าขายโดยสดวก มิให้ผู้หนึ่งผู้ใดฝ่ายอังกฤษข่มเหงเบียดเบียน ๚ะ

ข้อว่า แต่บันดาการงานของคนที่อยู่ในบังคับอังกฤษซึ่งเข้ามาอยู่ณกรุงเทพมหานคร ก็ตอ้งฟังบังคับบันชาของกงซุลที่เข้ามาตั้งอยู่ณกรุงเทพมหานคร กงซุลจะได้ทำตามหนังสือสัญานี้แลข้อหนังสือสัญาเก่าที่มิได้ยกเสียจงทุกประการ แล้วจะได้บังคับบันชาคนในบังคับอังกฤษให้ทำตามดว้ย แล้วกงซุลจะรับรักษากดหมายการค้าขาย แลกดหมายที่จะห้ามปรามมิให้คนที่อยู่บังคับอังกฤษทำผิดลว่งเกินกดหมายของอังกฤษกับไทที่มีอยู่แล้วแลจะมีต่อไปภายน่า ถ้าคนอยู่ในบังคับอังกฤษจะเกิดวิวาทกันขึ้นกับคนอยู่ในบังคับไท กงซุลกับเจ้าพนักงานฝ่ายไทจะปฤกษาชำระตัดสีน คนอยู่ในบังคับอังกฤษทำผิด กงซุลจะทำโทษตามกดหมายอังกฤษ คนอยู่ในบังคับไททำผิด ไทจะทำโทษตามกดหมายเมืองไท ถ้าคนอยู่ในใต้บังคับไทเปนความกันเอง กงซุลไม่เอาเปนธุระ คนอยู่ในบังคับอังกฤษเปนความกันเอง ไทก็ไม่เอาเปนธุระ ๏ แลไทกับอังกฤษยอมกันว่า กงซุลซึ่งจะเข้ามาตั้งอยู่ณกรุงเทพมหานครนั้น ยังไม่ตั้ง ต่อเมื่อทำหนังสือสัญาตกลงลงชื่อกันแล้ว กำปั่นอังกฤษเข้ามาค้าขายณกรุงเทพมหานคร ใช้ธงอังกฤษมีหนังสือสำหรับลำเปนสำคัญครบ ๑๐ ลำ หนังสือสัญาปิตตราเข้ามาถึงเปลี่ยนกันแล้ว กงซุลจึ่งตั้งได้ ๚ะ

ข้อว่า คนซึ่งอยู่ในบังคับไทจะไปเปนลูกจ้างอยู่กับคนอยู่ในบังคับอังกฤษก็ดี คนอยู่ในใต้บังคับไทที่มิได้เปนลูกจ้างก็ดี ทำผิดกดหมายเมืองไท จะหนีไปอาไศรยอยู่กับคนในบังคับอังกฤษซึ่งอยู่ในกรุงฯ ถ้ามีพญานว่า ทำผิดหนีไปอยู่กับคนในบังคับอังกฤษจริง กงซุลจะจับตัวส่งให้แก่เจ้าพนักงานฝ่ายไท ถ้าคนอยู่ในบังคับอังกฤษที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนแลเข้ามาอาไศรยค้าขายอยู่ในกรุงฯ ทำผิดหนีไปอยากับคนในใต้บังคับไท ถ้ามีพญานว่า ทำผิดหนีไปอยู่กับคนในใต้บังคับไทจริง กงซุลจะฃอเอาตัว เจ้าพนักงานฝ่ายไทจะจับตัวส่งให้ ถ้าพวกจีนคนไรว่าเปนคนอยู่ในบังคับอังกฤษ ไม่มีสิ่งสำคัญสิ่งไรเปนพญานว่า เปนคนอยู่ในบังคับอังกฤษ กงซุลก็ไม่รับเอาเปนธุระ ๚ะ

ข้อว่า คนอยู่ในบังคับอังกฤษจะมาค้าขายตามหัวเมืองชายทเลซึ่งขึ้นกับกรุงฯ ก็ค้าขายได้โดยสดวก แต่จะอาไศรยอยู่ได้ทีเดียวก็แต่ในกรุงฯ ตามในจังหวัดซึ่งกำหนดไว้ในหนังสือสัญา ประการหนึ่ง คนอยู่ในบังคับอังกฤษจะมาเช่าปลูกโรงปลูกเรือนปลูกตึก แลจะซื้อเรือนซื้อโรงซื้อตึก พ้นกำแพงออกไปในกำหนด ๒๐๐ เส้น คือ สี่ไมลอังกฤษ เช่าได้ แต่จะซื้อที่ ซื้อไม่ได้ ถ้าอยู่ถึง ๑๐ ปีแล้ว จึ่งจะซื้อได้ ถ้าอยู่ยังไม่ถึง ๑๐ ปี ท่านเสนาบดีจะโปรดให้ซื้อ ก็ซื้อได้ แลที่นอกกำหนดสองรอ้ยเส้นนั้น คนอยู่ในบังคับอังกฤษจะซื้อจะเช่าที่เรือนที่สวนที่ไร่ที่นาตั้งแต่กำแพงเมืองออกไปเดินดว้ยกำลังเรือแจวเรือภายทาง ๒๔ ชั่วโมง จะซื้อจะเช่าเมื่อไรก็ซื้อได้เช่าได้ แต่เมื่อคนอยู่ในบังคับอังกฤษจะซื้อที่ซื้อเรือน จะต้องบอกกงซุล ๆ จะได้บอกเจ้าพนักงานฝ่ายไท เจ้าพนักงานกับกงซุลเห็นว่า คนที่จะซื้อที่นั้นเปนคนจะทำมาหากินโดยจริง เจ้าพนักงานกับกงซุลจะชว่ยว่ากล่าวให้ซื้อตามราคาสมควรแล้ว จะได้ดูแล ปักที่ วัดที่ ทำหนังสือประทับตราเจ้าพนักงานให้ไว้เปนสำคัญ แล้วจะได้ฝากฝังเจ้าเมือกรมการให้ช่วยดูแลทำนุบำรุงดว้ย แลให้ผู้ที่ไปอยู่นั้นฟังบังคับบันชาเจ้าเมืองกรมการตามยุติธรรม์ ค่าธรรมเนียมที่ทำไร่ทำสวนราษฎรบ้านนั้นเมืองนั้นตอ้งเสียอย่างไร ก็ให้เสียตามเชาบ้านนั้นเชาเมืองนั้น ถ้าในกำหนด ๓ ปีแล้ว ผู้ที่ซื้อไม่มีทุนรอนฤๅแชเชือนเสียมิได้ตั้งการปลูกส้าง เสนาบดีจะคืนเงินค่าที่ให้ จะตัดสีนคืนเอาที่นั้นเสีย ๚ะ

ข้อว่า คนอยู่ในบังคับอังกฤษที่เข้ามาอาไศรยอยู่ณกรุงเทพมหานคร ตอ้งไปบอกกับกงซุลให้จดชื่อไว้ ถ้าคนเหล่านี้จะออกไปทเลฤๅจะไปเที่ยวเกินกำหนด ๒๔ ชั่วโมงตามสัญาไว้ที่จะให้คนในบังคับอังกฤษอยู่ กงซุลจะไปฃอหนังสือเบิกลอ่งเจ้าพนักงานฝ่ายไทให้ไป ถ้าคนในบังคับอังกฤษจะกลับออกไปกรุงฯ ถ้าขุนนางเจ้าพนักงานฝ่ายไทบอกแก่กงซุลว่า มีเหตุควรจะห้ามมิให้ออกไป กงซุลก็จะมิให้ออกไป ถ้าคนอยู่ในบังคับอังกฤษไปเที่ยวในระหว่าง ๒๔ ชั่วโมง กงซุลจะเขียนเปนหนังสือไทให้ไปว่า คนนั้น ชื่ออย่างนั้น รูปร่างอย่างนั้น มีธุระอย่างนั้น แล้วจะตอ้งให้เจ้าพนักงานฝ่ายไทปิดตราหนังสือให้ไปเปนสำคัญดว้ย เจ้าพนักงายฝ่ายไทดูหนังสือแล้ว ให้คืนหนังสือ ให้ปล่อยตัวไปโดยเรว ถ้าไม่มีหนังสือกงซุลปิดตราเจ้าพนักงานฝ่ายไทไปสำหรับตัว สงไสว่าเปนคนหนี ก็ให้ยึดเอาตัวไว้ แล้วให้มาบอกความกับกงซุลให้รู้ ๚ะ

ข้อว่า คนซึ่งอยู่ในบังคับอังกฤษจะเข้ามาเที่ยวแลจะเข้ามาอาไศรยอยู่ณกรุงฯ จะถือสาศนากฤษเตีน ไทก็ไม่ห้ามปราม เมื่อจะส้างวัดขึ้น จะทำได้ก็แต่ในที่เสนาบดีจะโปรดให้ ๏ ถ้าคนอยู่ในบังคับอังกฤษซึ่งจะเข้ามาอยู่ณกรุงฯ จะจ้างคนซึ่งอยู่ในใต้บังคับไทมาเปนลูกจ้าง เสนาบดีฝ่ายไทจะไม่ห้ามปราม ถ้าคนที่มีมุนนายจะมารับจ้างอยู่กับคนอยู่ในบังคับอังกฤษ มุนนายไม่รู้ มุนนายจะมาเอาตัวไป ก็เอาไปได้ ถ้าคนในบังคับอังกฤษไปจ้างคนในใต้บังคับไทเปนลูกจ้าง ไม่ได้ทำสัญากับมุนนายเขา ภายหลังถ้าเกี่ยวข้องสิ่งหนึ่งสิ่งใด เสนาบดีฝ่ายไทไม่ชำระให้ ๚ะ

ข้อว่า กำปั่นรบจะเข้ามาทอดน่าด่านเมืองสมุทปราการ เข้ามาทอดได้ แต่จะขึ้นมาณกรุงฯ ไม่ได้ เมื่อกำปั่นรบชำรุดจะตอ้งเข้าอู่ เสนาบดีเจ้าเมืองกรมการเหนว่า ชำรุดจริง จะยอมให้เอามาเข้าอู่ ถ้าจะมีขุนนางถือหนังสือพระเจ้าแผ่นดินกรุงบริตเตนให้ขี่กำปั่นรบเข้ามาณกรุงฯ จะให้ขึ้นมาแต่ลำเดียว ตอ้งให้ขึ้นมาทอดอยู่ใต้ป้อมป้องปัจามิตร ป้อมปิจปัจจนึก อย่าให้ขึ้นมาพ้นป้อม เว้นไว้แต่เสนาบดีจะโปรดให้ขึ้นมาพ้นป้อม จึ่งขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีเรือรบอังกฤษอยู่ในกรุงฯ คนอยู่ในบังคับอังกฤษจะวิวาทกันขึ้น กงซุลจะไประงับ ไทจะให้ทหารไปชว่ยกงซุลระงับภอระงับได้ ๚ะ

ข้อว่า ค่าธรรมเนียมปากเรือที่เคยเรียกแต่ลูกค้าอังกฤษตามสัญาเก่าซึ่งทำไว้ในกฤษศักราช ๑๘๒๖ ปีนั้น จะยอมเลิกเสียตั้งแต่หนังสือสัญานี้ใช้ได้ พ้นนั้นไป จะตอ้งเสียแต่ภาษีสิ่งของฃาเข้าฃาออก สินค้าฃาเข้าจะตอ้งเสียภาษี ๑๐๐ ละสาม จะเสียเปนของฤๅจะเสียเปนเงินคิดราคาตามราคาทอ้งน้ำ สุดแต่ใจเจ้าของจะเสีย ถ้าของเสียภาษี ๑๐๐ ละสามแล้ว ของจำหน่ายไม่ได้ จะเหลือกลับออกไปมากนอ้ยเท่าใด ตอ้งคิดภาษีสิ่งของที่เหลือคืนให้แก่เจ้าของให้ครบ ถ้าราคาสิ่งของไม่ตกลงกัน ตอ้งไปบอกกงซุล ๆ จะเรียกพ่อค้าคนหนึ่งฤๅสองคน เจ้าพนักงานฝ่ายไทยก็จะเรียกพ่อค้าคนหนึ่งฤๅสองคน ชว่ยตีราคาภอสมคววร ถ้าลูกค้าอยู่ในบังคับอังกฤษจะบันทุกเอาฝี่นเข้ามาณกรุงฯ ไม่ตอ้งเสียภาษี แต่ตอ้งขายฝี่นให้กับเจ้าภาษี ถ้าเจ้าภาษีไม่ซื้อเอาฝี่นไว้ ให้บันทุกกลับออกไป ไม่ตอ้งเสียอะไร ถ้าลูกค้าอยู่ในบังคับอังกฦษเอาฝี่นไปลักลอบขายทำผิดสัญาข้อนี้ ให้ริบเอาฝี่นเสียให้สิ้น แลของที่เปนสินค้าจะบันทุกออกไปนั้น ตั้งแต่ของสิ่งนั้นเกิดมาจนได้เปนสินค้าบันทุกกำปั่นออกไป ให้เสียภาษีแต่ชิ้นเดียว ของสิ่งไรที่เปนสินค้าในกรุงฯ จะเรียกเปนสมภักษร ฤๅจะเรียกเปนภาษีป่า ภาษีในกรุงฯ ภาษีปากเรืออย่างไร ได้กำหนดแจ้งในพิกัดติดอยู่กับหนังสือสัญญาแล้ว ได้ยอมกันเปนชัดแล้วว่า ของสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ตอ้งเสียภาษีข้างในแล้ว เมื่อลงเรือ ไม่ตอ้งเสีย พวกลูกค้าอยู่ในบังคับอังกฤษจะซื้อสินค้า ยอมให้ซื้อกับผู้ทำผู้ปลูก แลของที่เขาขายนั้น ถ้าผู้ใดผู้หนึ่งจะซื้อ ยอมให้ขาย มิให้ผู้ใดผู้หนึ่งขัดขวางห้ามปราม ภาษีที่กำหนดในพิกัดสัญญานี้ สินค้าที่บันทุกเรือไทเรือจีนที่เคยเสียแล้ว ฝ่ายไทจะยอมลดภาษีให้เรือไทเรือจีน แลชาติอื่น ๆ ก็จะยอมลดให้ลูกค้าซึ่งอยู่ในบังคับอังกฤษเหมือนกัน ลูกค้าอยู่ในบังคับอังกฤษจะเข้ามาต่อเรือณกรุงฯ เสนาบดียอมให้ต่อแล้ว ก็ต่อได้ แลเข้า ปลา เกลือ ของสามสิ่งนี้ ที่ในกรุงฯ ไม่บริบูรรณ มีหมายประกาศห้ามไม่ให้ออกไปก็ได้ เงินทองแลของสำหรับตัวเข้าออก ไม่ตอ้งเสียภาษี ๚ะ

ข้อว่า ความในกดหมายซึ่งติดในสัญญานี้ กงซุลกับเจ้าพนักงานฝ่ายไทพร้อมกันจะตอ้งรักษา แลจะตอ้งบังคับให้คนทั้งปวงกระทำตามกดหมาย เจ้าพนักงานฝ่ายไทกับกงซุลจะคิดจัดแจงเพิ่มเติมกดหมายหวังจะรักษาหนังสือสัญญาให้เจริญ ก็ทำได้ เงินที่ปรับไหมแลของที่ริบเพราะทำผิดสัญญานี้ ตอ้งส่งเปนของในแผ่นดินกอ่น เมื่อกงซุลจะเข้ามาตั้งอยู่ณกรุงฯ เจ้าของเรือแลกปิตันนายเรือจะว่าดว้ยการค้าขายกับเจ้าพนักงานฝ่ายไทก็ได้ ๚ะ

ข้อ๑๐ว่า ถ้าฝ่ายไทยอมให้สิ่งใด ๆ กับชาติอื่น ๆ นอกจากหนังสือสัญญานี้ ก็จะตอ้งยอมให้อังกฤษแลคนในบังคับอังกฤษเหมือนกัน ๚ะ

ข้อ๑๑ว่า เมื่อพ้น ๑๐ ปีตั้งแต่ปิดตราเปลี่ยนหนังสือสัญญานี้แล้ว ถ้าฝ่ายไทฝ่ายอังกฤษจะฃอเปลี่ยนข้อใด ๆ ในหนังสือสัญญานี้ แลข้อใด ๆ ในหนังสือสัญญาเก่าซึ่งทำไว้ในกฤษศักราช ๑๘๒๖ ปีซึ่งมิได้ยกเสียนั้น แลข้อใด ๆ ในกดหมายค้าขายแลพิกัดภาษีที่ติดอยู่กับหนังสือสัญญานี้ แลกดหมายจะทำต่อไปภายน่า เมื่อบอกให้รู้กอ่นปีหนึ่งแล้ว จะตั้งขุนนางฝ่ายไทฝ่ายอังกฤษเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมได้ตามแต่เหนควรเห็นชอบดว้ยกันทังสองฝ่าย ๚ะ

ข้อ๑๒ว่า หนังสือสัญญานี้ทำไว้เปนอักษรไทฉบัพหนึ่ง เปนอักษรอังกฤษฉบัพหนึ่ง ข้อความตอ้งกัน เมื่อหนังสือสัญญาปิดตราเข้ามาเปลี่ยนกันแล้ว ใช้ได้เมื่อณวันที่ ๖ เดือนเอปริล คฤษศักราช ๑๘๕๖ ปี คิดเปนไทณวันอาทิตย์ เดือนห้า ขึ้นค่ำหนึ่ง จุลศักราช ๑๒๑๘ ปีมโรง อัฐศ ผู้สำเรจราชการฝ่ายไทฝ่ายอังกฤษทำหนังสือสัญญานี้เขียนเปน ๔ ฉบัพ ลงชื่อปิดตราดว้ยกันทั้งสองฝ่าย ทำไว้ในกรุงเทพพระมหานครอมรัตนโกสิทรมหินทรายุทธยาณวันพุทธ เดือนหก ขึ้นสองค่ำ ปีเถาะ สัปตศ ๚ะ

ลงชื่อปิดตราเซอยอนโบวริง ราชทูตอังกฤษ
ลงชื่อปิดตราท่านผู้สำเร็ธราชการฝ่ายไทห้าดวง