หนังสือหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2470

  • ฟามบางเปิด
  • วันที่ ๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๐

ทูล หม่อมเจ้าดำรัสดำรงค์ เลขาธิการกรรมการองคมนตรี ทรงทราบ

ตามพระโอวาทของผู้ทรงเป็นประธานว่า จะทรงอนุญาตให้เสนอความเห็นส่วนน้อยนั้น หม่อมฉันจึงขอถือโอกาสอันนี้ถวายความเห็นส่วนน้อยเรื่องหน้าที่และสิทธิของสภากรรมการองคมนตรีว่า ควรเปน Advisory หรือ Consultative body

เรื่องนี้หม่อมฉันจำไม่ได้แลไม่ปรากฏตามรายงานชุมนุมว่า ได้โต้เถียงกันอย่างเต็มที่ จำได้แต่ว่า เห็นควรเปน Consulative เพราะเปน Privy Council และในเรื่องการประชุมจะเปิดเผยหรือไม่ โดยเหตุที่เปน Privy Council ข้อความที่ปฤกษากันต้องเปน "private" หม่อมฉันได้ทักท้วงว่า ตามภาษาอังกฤษ Privy Council อาจจะเข้าใจว่า "private" ได้ แต่คำไทย องคมนตรี ไม่จำเปนต้องเข้าใจเช่นนั้นกระมัง

ในขณะนั้น หม่อมฉันไม่ได้พยายาม press the point โดยเหตุที่ยังเรียงความในใจไม่คล่องแคล่ว แลรู้สึกว่า ผู้นั่งประชุมโดยมากไม่เห็นพ้องด้วย จะขืนพูดไป กลัวจะเสียเวลาเปล่า

มาบัดนี้ หม่อมฉันได้มาตรึกตรองแลเรียบเรียงความเห็นส่งมาพร้อมกับจดหมายนี้ โดยรู้สึกว่า เปนข้อสำคัญอันหนึ่งซึ่งควรจะได้รับความพระวินิจฉัยของผู้ทรงเปนประธาน

จะได้ทรงพระกรุณานำความกราบบังคมทูล หรือจะทรงเห็นว่า มีมูลพอควรนำเอาขึ้นปฤกษาอีกครั้งหนึ่ง หรือโดยเหตุที่ส่งช้าไป จะทรง rule ว่า out of order ก็สุดแล้วแต่จะโปรด.

ควรมิควรสุดแล้วแต่จะโปรด

ความเห็นส่วนน้อย เรื่องข้อที่ว่า
สภากรรมการองคมนตรีควรเปน Advisory หรือ
Consultative body

คำ "ที่ปฤกษา" ในภาษาไทย อาจจะใช้เปน Consultative หรือ Advisory body ก็ได้ แต่ตามร่างพระราชบัญญัติใหม่ มาตรา ๑๓ ต้องเข้าใจว่า เปน Consultative โดยตรง

เมื่อมาคิดถึงความมุ่งหมายในการแก้ไขพระราชบัญญัติคราวนี้ คือ เพื่อประสงค์จะเดินไปทาง Democracy แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่า เปน Consultative body ตามมาตร ๑๓ นั้น ไม่ใคร่เป็นอันก้าวหน้าไปหาความมุ่งหมายเท่าใด โดยเหตุที่สภากรรมการไม่มีอำนาจจะประชุมกันเองได้

ในคราวชุมนุมครั้งหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าได้พูดถึง "ข้ออันตราย (danger) ซึ่งอาจจะมีต่อแผ่นดินได้ ถ้าพระมหากระษัตริย์ไม่ทรงไว้ซึ่งสติปัญญาดี เพราะฉนั้น ประเทศอื่น ๆ จึงได้มีการหน่วงพระราชอำนาจ"

ถ้าจะคิดไปถึงรากและต้นเหตุ Democracy ก็เกิดจากการหนวงอำนาจของพระมหากระษัตริย์นั่นเอง จนถึงเลิกพระมหากระษัตริย์กันก็มี ในประเทศสยาม ไม่ต้องสงสัยว่า Monarchy เปนวิธีปกครองที่เหมาะกับราษฎร์ ทั้งเปนที่นิยมด้วย และยังจำต้องเปน Absolute Monarchy ไปอีกนาน แต่ถ้ามีหนทางกันข้ออันตรายต่อแผ่นดินซึ่งอาจจะมีขึ้นได้ในภายหน้าโดยไม่เปลี่ยนวิธีปกครอง (Constitution) ถึงแม้จะเปนหนทางหรือช่องอย่างแคบก็ยังดีกว่าไม่มีเสียเลย และอาจจะนับได้ว่า เปนก้าวหน้าไปหาความมุ่งหมาย คือ Democracy แม้แต่เปน(ต้นฉบับตรงนี้อ่านไม่ออก)ก้าวอันสั้น

สมมุติว่า มีพระมหากระษัตริย์ซึ่งเมื่อครองราชสมบัติมีความตั้งพระราชหฤทัยดี ทรงตั้งองคมนตรีเปนที่ไว้วางพระราชหฤทัย แต่ต่อมาภายหลัง พระสติฟั่นเฟือนไป ราชการแผ่นดินเสื่อมเสียลงเปนลำดับ หรือ

สมมุติว่า พระมหากระษัตริย์ เมื่อครองราชสมบัติ พระชันษายังย่อมเยาว์ จำต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (Regency) ซึ่งในชั้นแรกเปนผู้ตั้งใจดีต่อราชการ แต่อยู่มาไม่ช้า มีการแผ่อำนาจเกินส่วน (abuse his power) จนใกล้อันตรายต่อแผ่นดิน

ใน regime สมมุติทั้งสองนี้ ถ้าสภากรรมการองคมนตรีเปนเพียง Consultative body ถึงแม้จะมีข้ออันตรายแก่แผ่นดินเท่าใด กรรมการองคมนตรีไม่มีสิทธิที่จะออกความเห็นทักท้วงได้เลย เพราะถ้าจะเรียกประชุมปฤกษาหารือกันเอง คงเกรงกลัวว่า จะถูกหาว่าเปน conspiracy ด้วยพระราชบัญญัติมิได้เปิดโอกาสให้เรียกประชุมกันเองได้ ถ้าจะถวายความเห็นส่วนตัวตามมาตรา ๖ ก็เปนเสียงคนเดียว ๆ ไม่มีน้ำหนักเท่าใดเลย

แต่ถ้าเปน Advisory body และมีข้อในพระราชบัญญัติเปิดโอกาสให้เรียกประชุมกันเองได้ ถ้าการเปนไปของแผ่นดินคล้ายคลึงกับข้อสมมุติที่กล่าวมา สภากรรมการองคมนตรีอาจเรียกประชุมและยื่นความเห็นทักท้วงหรือวิงวอนให้เปลี่ยนแปลงรัฐประศาสโนบายซึ่งเดินไปทางอันตรายกลับหาวิธีการที่แน่นอนและมั่นคง

เพื่อจะแก้จาก consultative มาเปน advisory body บางทีเติมคำในมาตร ๑๓ ก็พอ ดังทำนองนี้

"มาตรา ๑๓ เมื่อได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานข้อราชการใดลงมาให้ปฤกษาแล้ว หรือเมื่อมีเหตุสำคัญเกี่ยวแก่ Welfare(?) ของแผ่นดิน สภากรรมการองคมนตรีมีหน้าที่และอำนาจ (สิทธิ?) ที่จะประชุม" ฯลฯ

ถ้าได้แก่พระราชบัญญัติตามทำนองนี้แล้ว ก็ควรคิดดูว่า in practice จะดำเนินอย่างไร

ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่า ในชั้นแรก สภากรรมการองคมนตรีคงจะไม่ใช้สิทธิอันนี้เลย และถ้าราชการดำเนินไปโดยเรียบร้อย ก็คงจะไม่ใช้ ต่อเมื่อมีเหตุสำคัญจริง ๆ ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น นั่นแหละ บางทีจะมีองคมนตรีที่มี moral courage เพียงพอร้องขอประชุมตามแต่ข้อบังคับของการประชุม (rules of meeting) จะให้โอกาส

ส่วนประโยชน์ที่จะถึงได้แก่แผ่นดิน ก็แล้วแต่ moral courage ขององคมนตรี moral courage เปนสมบัติขององคมนตรีมากคนเท่าใด ความยำเกรงของพระมหากระษัตริย์หรือผู้สำเร็จราชการก็มีมากส่วนเท่านั้น. ส่วนความเห็นราษฎร (public opinion) ก็จะมีน้ำหนักตามส่วนแห่งความกล้าของสภากรรมการองคมนตรี (Public opinion will have weight in proportion to the degree of moral courage possessed by the Council.)

ถ้าจะพูดทางกว้าง moral courage กับ culture เปนสมบัติของบุคคลที่เดินตามกัน ถ้า culture ต่ำ moral courage ก็น้อย ถ้า culture สูง moral courage ก็มากเปนลำดับ เพราะฉนั้น เมื่อต่อไปภายหน้า กรรมการองคมนตรีมี moral courage พอที่จะขอร้องประชุม ถึงแม้ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับข้ออันตรายแผ่นดิน ก็คงเปนเรื่องที่มีมูลเหตุเพียงพออันสมกับผู้มี culture คงจะไม่เปนเรื่องเหลวไหลของ uncultured people.

เพราะฉนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่า การที่เปิดโอกาสให้องคมนตรีประชุมกันเองได้ คงจะไม่เปนข้อเสียหาย และอาจจะเปนหนทางที่ดีได้ เพราะอยางไรก็ดี ความเห็นของกรรมการองคมนตรีไม่เปนความเห็นที่พระมหากระษัตริย์จะต้องทำตามเลย จึงหาได้เปลี่ยนวิธีปกครองแผ่นดินไม่ แต่ก็ยังเปิดช่องให้กรรมการองคมนตรีออกความเห็นได้ในทางที่ถูก คือ ในทางที่ไม่ผิด constitution.

(ลงพระนาม) สิทธิพร

บรรณานุกรม แก้ไข

  • สิทธิพร กฤดากร, หม่อมเจ้า. (2545). หนังสือหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2470. ใน แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ "ประชาธิปไตย" ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2469–2475) (น. 262–265). (พิมพ์ครั้งที่ 4). นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า. (สถาบันพระปกเกล้าจัดพิมพ์ในงานพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 7 ธันวาคม พุทธศักราช 2545). ISBN 9743000372.
 

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก