เมื่อพิจารณาตามพระราชพงษาวดารแล้ว จะเห็นได้ว่า ประเทศสยามได้ทำการค้าขายเกี่ยวข้องกับต่างประเทศเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๓๐๐ ปีมาแล้ว ในสมัยเมื่อครั้งกรุงเก่าเป็นราชธานี ได้มีทางพระราชไมตรีกับฝรั่งโปรตุเกสตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ในพุทธศักราช ๒๐๖๐ (คริศตศักราช ๑๕๑๗) ชาวโปรตุเกสจึงเป็นฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับไทย อังกฤษเริ่มเข้ามาในต้นรัชชกาลสมเด็จพระเอกาทศรฐ คือเมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๑ (ค.ศ. ๑๕๙๘)[1] ต่อมาก็มีชาววิลันดาเข้ามาทำกาาค้าขาย, ในราวปีคริศต⟨ศัก⟩ราชเดียวกันนี้ ยังมีชนชาติเชื้อชาวเอเชีย มีอาทิพวกชาวอามีเนียน, อิหร่าน (เปอร์เซียน), แขกมลายู แลอื่น ๆ พากันเข้ามาอีก ส่วนจีนนั้นปรากฎว่าเข้ามาก่อนนานแล้ว อนึ่ง ชาวญี่ปุ่นที่นับถือสาสนาคริสเตียนในสมัยนั้นก็พลอยอพยบเข้ามาเป็นจำนวนไม่น้อย เพราะในยุคนั้นประเทศญี่ปุ่นยังมีการรังเกียจแลกดขี่ข่มเหงผู้ถือสาสนาอื่นนอกจากสาสนาของพวกชาวพื้นเมืองอยู่[2] เวลาล่วงมา คนต่างประเทศในกรุงสยามก็มีจำนวนมากขึ้นทุกที เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศต่าง ๆ ก็พยายามที่จะเจรจาขอทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับกรุงสยามเพื่อคุ้มครองการค้าขายแลความปกติสุข
- ↑ ดูพระคำนำของสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๒๗ น่า ๕ กับพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร รัชชกาลที่ ๒ ฉะบับพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ น่า ๒๖๑
- ↑ Jurisdiction over Foreigners in Siam ของดอกเตอร์ อี. อาร์. เยมส์ ในหนังสือ The American Journal of International Law เล่ม ๑๖ ฉะบับที่ ๔ น่า ๕๘๖