หน้า:การสิ้นสุดสภาพนอกอาณาเขต - ดิเรก ชัยนาม - ๒๔๗๙.pdf/11

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ของพลเมืองของตน

แต่สัญญาทางพระราชไมตรีของกรุงสยามฉะบับแรก เท่าที่สามารถทราบได้ คือสัญญากับบริษัทดัชยูในเตดอิสตอินเดียในความควบคุมของสะเตตเยเนราลแห่งประเทศยูในเตดเนเดร์แลนด์ ลงนามกันเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม คริศตศักราช ๑๖๖๔ ที่กรุงศรีอยุทธยา โดยสัญญาฉะบับนี้กรุงสยามยอมให้บริษัทผูกขาดการค้าบางประเภทได้โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าคนของบริษัทกระทำผิดอาญาชะนิดอุกฉกรรจ์ขึ้นในกรุงสยาม พระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามไม่มีพระราชอำนาจที่จะเอาตัวไปพิจารณาพิพากษาได้ แต่ต้องส่งตัวให้กับผู้เป็นประมุขของบริษัทเพื่อจะได้ลงโทษตามกฎหมายวิลันดา ถ้าผู้เป็นประมุขแห่งบริษัทกระทำผิดเอง พระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามจะทรงกักขังตัวไว้จนกว่าได้ส่งคำบอกกล่าวไปยังผู้สำเร็จราชการแห่งรัฐบาลเนเดรแลนด์[1] ครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราช กรุงสยามได้เซ็นสัญญาทางพระราชไมตรีกับกรุงฝรั่งเศสสองฉะบับ (สัญญาลงวันที่ ๑๐ ธันวาคม และวันที่ ๑๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๖๘๕) ที่เมืองลพบุรี สัญญาฉะบับแรก กรุงสยามยอมให้ชนชาติฝรั่งเศสที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพระราชอาณาจักร์มีสิทธิเที่ยวสอนสาสนาคริสเตียนได้ ส่วนสัญญาฉะบับที่สองนั้น กรุงสยามยอมให้สิทธิในการที่ฝรั่งเศสจะชำระคดีพิพาทในระวางคนของเขาเองดังต่อไปนี้ได้ คือ

(๑)ผู้นั้นเป็นชนชาติฝรั่งเศส ทำการอยู่ในบริษัท Compagnie des Indes Orientales (คือบริษัทฝรั่งเศสทำการค้าขายในตะวันออก)

(๒)คนฝรั่งเศสแม้จะไม่ได้ทำการอยู่กับบริษัทกล่าวนามมาแล้วก็ตาม แต่ไม่ได้รับราชการในรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยาม

(๓)คนฝรั่งเศสที่ไปลักทรัพย์ของผู้อื่น

ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดไม่พอใจในคำตัดสินของหัวหน้าทางฝรั่งเศสให้งดการบังคับ


  1. ดูหนังสือ Extra Territoriality in Siam ของพระยาวิทุรธรรมพิเนตุ หน้า ๒๙ และเรื่อง Jurisdiction over Foreigners in Siam ของดอกเตอร์เยมส์ที่อ้างข้างต้น หน้า ๕๗๗