หน้า:การสิ้นสุดสภาพนอกอาณาเขต - ดิเรก ชัยนาม - ๒๔๗๙.pdf/26

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๒

ตกลงทั้งหมดกับประเทศสยาม แลสิทธิ อำนาจและเอกสิทธิทั้งหมดซึ่งมีอยู่เนื่องจากข้อตกลงนั้น ๆ แลรวมทั้งสิทธิในการตั้งศาลกงสุลนี้ เป็นอันสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ ๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ ส่วนข้อความในสัญญากับออซเตรียแลฮุงการีก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน

ครั้งนี้เรียกได้ว่า กรุงสยามเริ่มได้สิทธิบริบูรณ์แล้วในเรื่องอำนาจศาลเกี่ยวกับคนในบังคับเยอรมันนี, ออซเตรียและฮุงการี กล่าวคือ คนในบังคับประเทศเหล่านี้ต้องขึ้นศาลไทยธรรมดาทุกประการ

สัญญาใหม่กับสหปาลีรัฐอเมริกา รุ่งขึ้นอีกปีหนึ่ง คือ เมื่อวันที่ ๑๖ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ (ค.ศ. ๑๙๒๐) กรุงสยามจึงได้ทำสัญญาใหม่กับประเทศสหปาลรัฐอเมริกาฉะบับหนึ่ง ตามสัญญาฉะบับนี้ นอกจากมีข้อความอื่น ๆ ซึ่งเป็นไปในทางให้กรุงสยามได้รับความเสมอภาคแล้ว ยังมีข้อตกลงกันถึงเรื่องอำนาจศาลด้วย ดังปรากฎในข้อความต่อท้ายสัญญาโปรโตโคลว่าด้วยอำนาจศาลสำหรับใช้แก่คนอเมริกันแลคนอื่น ๆ ที่สมัครอยู่ในป้องกันอเมริกันในกรุงสยาม ข้อ ๑ “วิธีอำนาจศาลซึ่งได้ตั้งไว้ในกรุงสยามแต่ก่อนมาจนบัดนี้สำหรับใช้ต่อคนชาวพื้นเมืองสหปาลีรัฐอเมริกาก็ดี กับทั้งอำนาจแลความยกเว้นซึ่งคนชาวเมืองสหปาลีรัฐอเมริกาเคยได้มีอยู่บัดนี้ว่าเป็นส่วนหรือเป็นของสำหรับกับวิธีอำนาจศาลที่กล่าวนั้น ต้องเป็นอันเลิกขาดแลสิ้นสุดลงณวันที่ได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันสัญญาที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว (แลกเปลี่ยนสัตยาบันเมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔) ตั้งแต่บัดนี้สืบไปบรรดาคนชาวเมืองสหปาลีรัฐอเมริกาก็ดี บริษัทหรือพวกหุ้นส่วนหรือสมาคมทั้งหลายก็ดี ซึ่งสมควรอยู่ในความป้องกันของอเมริกาในกรุงสยามนั้น ต้องอยู่ในอำนาจศาลสยาม” แล “ข้อ ๒ ตั้งแต่นี้ต่อไปจนเวลาที่ประกาศใช้ประมวลกฎหมายฝ่ายสยามทั้งหลาย กล่าวคือ ประมวลกฎหมายอาชญา ประมวลกฎหมายแพ่งกับการค้าขาย ประมวลกฎหมายกระบวนพิจารณา กับพระธรรมนูญศาลนี้ กับมีกำหนดไม่เกินกว่า ๕ ปีภายหลังประกาศนั้น ฝ่ายสหปาลีรัฐอเมริกาถ้าคิดเห็นสมควรที่จะกระทำเพื่อประโยชน์ในการยุตติธรรมเมื่อใด ก็ให้ทูตหรือ