หน้า:การสิ้นสุดสภาพนอกอาณาเขต - ดิเรก ชัยนาม - ๒๔๗๙.pdf/28

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๔
สัญญาฉะบับใหม่กับประเทศฝรั่งเศส

ในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๔๖๗ ค.ศ. ๑๙๒๕ กรุงสยามได้ทำสัญญาใหม่กับประเทศรีปับลิกฝรั่งเศสโดยมีข้อความทำนองเดียวกับสัญญาอเมริกัน ค.ศ. ๑๙๒๐ แต่มีความต่างกันในเรื่องอำนาจศาลอยู่บ้าง คือ ตามข้อ ๑ แห่งโปรโตโคล จนกระทั่งถึงเวลาที่ประเทศสยามประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนแล้ว พลเมืองฝรั่งเศสตลอดทั่วพระราชอาณาจักรสยามจะต้องขึ้นศาลพิเศษชื่อว่าศาลต่างประเทศ ซึ่งเป็นศาลของสยาม แลพนักงานทูตหรือกงสุลฝรั่งเศสมีสิทธิถอนคดีได้ชั่วเวลา ๕ ปีนับแต่วันที่ว่านั้นเป็นต้นไป[1] ส่วนชาวเอเชียในบังคับแลในอารักขาของฝรั่งเศสซึ่งสำนักอาศัยอยู่ในมณฑลอุดรแลอิสาณ แม้จะได้จดทะเบียนที่สถานกงสุลฝรั่งเศสในกรุงสยามเมื่อวันเดือนปีใด ๆ ก็ดี กับทั้งชาวเอเชียในบังคับแลในอารักขาฝรั่งเศสที่สำนักอาศัยอยู่นอกมณฑลที่ว่านั้น แลได้จดทะเบียนที่สถานกงสุลฝรั่งเศสในกรุงสยามก่อนวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ อันเป็นวันที่ได้ตกลงลงนามกันในหนังสือสัญญาฉะบับที่ได้ทำกันในระวางสยามกับฝรั่งเศสมาแล้วนั้น จะต้องอยู่ใต้อำนาจศาลต่างประเทศ ภายในบังคับแห่งข้อไขซึ่งมีกำหนดไว้ในข้อ ๔ แห่งโปรโตโคลฉะบับนี้ ภายหลังวันที่กล่าวข้างต้นนี้ คนเหล่านี้จะต้องอยู่ในบังคับศาลสยามธรรมดา[2]

ชาวเอเชียในบังคับแลในอารักขาฝรั่งเศสที่สำนักอาศัยอยู่นอกมณฑลอุดรแลอิสาณ แลได้จดทะเบียนที่สถานกงสุลฝรั่งเศสภายหลังวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ กับคนในบังคับแลในอารักขาฝรั่งเศสที่ไม่ใช่ชาวเอเชียนั้น จะต้องอยู่ใต้อำนาจศาลธรรมดา แลไม่มีสิทธิพิเศษอย่างไร[3]


  1. ดูโปรโตโคลแนบท้ายสัญญาระวางกรุงสยามกับฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๒๕ (พ.ศ. ๒๔๖๗) ข้อ ๑ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๒ หน้า ๓๒๒–๓๒๓
  2. ดูโปรโตโคล ข้อ ๒
  3. . . . . . . . . . . .