วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ กรุงสยามได้เซ็นสัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศอังกฤษ มีลักษณแบบเดียวกับสัญญาอเมริกัน ในโปรโตโคลว่าด้วยอำนาจศาลติดท้ายสัญญามีความดั่งนี้
ข้อ๑)วิธีอำนาจศาลซึ่งได้ตั้งไว้ในกรุงสยามแต่ก่อนมาจนบัดนี้สำหรับใช้ต่อคนในบังคับอังกฤษ กับทั้งเอกสิทธิ และความยกเว้น และความคุ้มกันต่าง ๆ ซึ่งคนในบังคับอังกฤษในกรุงสยามมีอยู่บัดนี้ เป็นส่วนหรือเป็นของสำหรับกับวิธีอำนาจศาลที่กล่าวนั้น ต้องเป็นอันเลิกขาดและสิ้นสุดลงในวันที่ได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันของสัญญาที่กล่าวมาแล้วข้างต้น (ได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘) และตั้งแต่นั้นสืบไป บันดาคนในบังคับอังกฤษ และองค์คณะ และบริษัท และบุคคลทั้งหลายในอารักขาของอังกฤษในกรุงสยามนั้น จะต้องขึ้นอยู่ในอำนาจศาลฝ่ายสยาม[1]
ข้อ๒)จนกระทั่งถึงเวลาที่จะได้ประกาศและเป็นอันเริ่มใช้ประมวลกฎหมายสยามทั้งหมด . . . . . . . . . . ฯลฯ . . . . . . . . . . กับมีกำหนดต่อนั้นไปอีก ๕ ปี แต่ไม่เกินกว่า ๕ ปี ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงอังกฤษ ถ้าเห็นสมควรที่จะกระทำเพื่อประโยชน์แห่งความยุตติธรรมเมื่อใด จะให้พนักงานทูตแลกงสุลของพระองค์ในกรุงสยามทำคำขอเป็นหนังสือถึงผู้พิพากษาแห่งศาลซึ่งพิจารณาความค้างอยู่ยังไม่แล้ว ในคดีคนในบังคับอังกฤษ หรือองค์คณะ หรือบริษัท หรือสมาคมอังกฤษ หรือบุคคลในอารักขาของอังกฤษ เป็นจำเลยหรือผู้ต้องหานั้น เพื่อถอนคดีที่ชำระค้างอยู่ในศาลสยามใด ๆ ก็ได้ เว้นแต่ศาลสูงสุดหรือศาลฎีกา ถอนไม่ได้
คดีเช่นนี้ เมื่อถอนแล้ว จะต้องโอนมาให้พนักงานทูตหรือกงสุลนั้นพิจารณาตัดสิน และอำนาจศาลสยามในคดีเช่นว่านี้จะไม่มีแต่ขณะนั้นไป คดีใด ๆ ที่ได้ถอนแล้วดังนี้ พนักงานทูตหรือกงสุลนั้นจะได้ว่ากล่าวให้สำเร็จไปตามกฎหมายของอังกฤษ ยกไว้แต่คดีความนั้นจะมีข้อบังคับไว้ในประมวลกฎหมายหรือกฎหมายทั้งหลาย
- ↑ ดูโปรโตโคลติดท้ายสัญญาอังกฤษ ปี พ.ศ. ๑๙๒๕ ข้อ ๑