หน้า:การสิ้นสุดสภาพนอกอาณาเขต - ดิเรก ชัยนาม - ๒๔๗๙.pdf/9

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

แต่ภายหลังมหาสงคราม เยอรมันนีและออซเตรียฮุงการีได้ยอมสละสิทธิพิเศษนี้เสียแล้ว[1] ประเทศรุซเซียก็ยอมสละสิทธิที่มีอยู่เดิมเช่นเดียวกันโดยสัญญาลงวันที่ ๓๑ พฤศภาคม ค.ศ. ๑๙๒๔[2]

ประเทศญี่ปุ่น แม้ในปัจจุบันนี้จะมีฐานะเป็นประเทศมหาอำนาจแล้วก็ตาม ก็หาได้รอดพ้นจากการต้องให้สภาพนอกอาณาเขตต์ที่กล่าวมาแล้วแก่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปไม่ ในโบราณสมัยญี่ปุ่นไม่ชอบทำการค้าขายกับคนต่างด้าว ๆ ที่เข้าไปในประเทศย่อมถูกกดขี่หรือขับไล่ ความสัมพันธ์ของยี่ปุ่นกับชาวต่างประเทศเท่าที่พอจะทราบได้ คือ ใน ค.ศ. ๑๕๔๒ มีฝรั่งชาวโปรตุเกตเข้าไปค้าขาย และใน ค.ศ. ๑๕๔๙ มิชชันนารีเยซวิตนิกายคนหนึ่งชื่อฟรันซิซซาเวียได้เข้าไปเริ่มสอนสาสนาคริสเตียน ต่อมาเกิดวิวาทกันขึ้นระวางชาวญี่ปุ่นกับคนต่างประเทศ ญี่ปุ่นเลยห้ามขาดมิให้ชาวต่างประเทศไปมาค้าขายอีกต่อไป แม้ชาวญี่ปุ่นเองจะออกไปนอกประเทศก็ไม่ได้ จนถึงปีคริศตศักราช ๑๘๕๓ นายเรือเปรีชาติอเมริกันจึงเข้าไปเจรจาขอทำการค้าขายด้วย ในปีรุ่งขึ้นญี่ปุ่นก็เริ่มทำสัญญาให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและอเมริกาในอันที่จะตั้งศาลกงสุลสำหรับชำระคดีชนชาติแห่งตนได้ แต่ประเทศญี่ปุ่นได้พยายามบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญยิ่งขึ้น ฉะเพาะอย่างยิ่งในการศาลยุตติธรรม จนเท่าเทียมอาระยะประเทศทั้งหลายในยุโรป ในปีคริศตศักราช ๑๘๙๗ ประเทศญี่ปุ่นจึงได้เซ็นสัญญากับประเทศในยุโรปต่าง ๆ โดยประเทศเหล่านั้นยอมยกเลิกศาลกงสุลเสียสิ้น[3]


  1. ดู China Year Book คริศตศักราช ๑๙๒๕ น่า ๗๓๓
  2. ดู China Year Book คริศตศักราช ๑๙๒๔ น่า ๑๑๙๔
  3. ดูคำอธิบายกฎหมายระวางประเทศของออปเป็นไฮม เล่ม ๑ หน้า ๖๐๕ พิมพ์ครั้งที่ ๓ (ค.ศ. ๑๙๒) Outline of History ของ เอส ยี เวลช น่า ๙๙๑–๙๙๓ และ Early Diplomatic Relations of U.S.A. and Japan, 1853–1865 โดย P.J. Treat