เล่ม ๑๓๗ ตอนพิเศษ ๑๐๒ ง
๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓
ราชกิจจานุเบกษา
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปจนถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ แล้ว นั้น
ด้วยเป็นการสมควรผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันและการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตามลำดับขั้นตอนการควบคุมโอกาสเสี่ยงของบุคคล สถานที่ และประเภทกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกและตามผลการประเมินสถานการณ์ของฝ่ายสาธารณสุข โดยรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายผู้ประกอบการ และฝ่ายผู้บริโภค แต่ยังคงให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค และคำแนะนำของทางราชการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดเป็นการทั่วไปและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ การผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการทำกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต ตลอดจนด้านการออกกำลังกายหรือการดูแลรักษาสุขภาพอันเป็นการช่วยป้องกันโรคได้ทางหนึ่ง ภายใต้บังคับข้อกำหนดว่าด้วยการห้ามออกนอกเคหสถาน และภายใต้มาตรการป้องกันโรคและคำแนะนำของทางราชการให้สถานที่ สถานประกอบการหรือกิจกรรมซึ่งรัฐอนุญาตให้เปิดบริการหรือมีนโยบายสนับสนุนให้เปิดดำเนินการได้อยู่ก่อนแล้วตามข้อ ๑๒ แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ ๑) ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เช่น ธนาคาร โรงงาน สถานีบริการเชื้อเพลิง บริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่งยังคงเปิดดำเนินการต่อไปได้เช่นเดิม ส่วนสถานที่ สถานประกอบการหรือกิจกรรมใดซึ่งเคยมีข้อกำหนดประกาศ หรือคำสั่งให้ปิดหรือจำกัดการดำเนินการชั่วคราวหรือเคยผ่อนผันโดยมีเงื่อนไขไว้ ในระยะแรกนี้ให้เปิดดำเนินการได้ทั่วราชอาณาจักรตามความสมัครใจและความพร้อม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป ดังต่อไปนี้
(๑)กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต
ก. การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในโรงแรม ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง โรงพยาบาล ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ซึ่งไม่รวมถึง