หน้า:ข้อกำหนดตาม ม ๙ (ฉ ๑๓, ๒๕๖๓-๐๗-๓๑).pdf/1

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๗ ตอนพิเศษ ๑๗๔ ง

๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓
หน้า ๗๗
ราชกิจจานุเบกษา

ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนด
การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(ฉบับที่ ๑๓)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ ๔ จนถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ แล้ว นั้น

โดยที่แม้สถานการณ์ของประเทศไทยในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด - 19) มีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์การระบาดในต่างประเทศยังคงอยู่ในระดับรุนแรงและจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราสูง เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการเปิดให้มีการเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ ดังที่ชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีความจำเป็นจะต้องเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้แสดงความประสงค์ต่อทางราชการไว้เป็นจำนวนมาก รัฐบาลจึงเห็นความจำเป็นที่ต้องคงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ต่อไปเพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้โดยยังคงตระหนักและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค และเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องสนธิกำลังทุกฝ่ายนอกเหนือจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ ผลจากการสนธิกำลังประการหนึ่งคือ พนักงานเจ้าหน้าที่ยังคงตรวจพบผู้ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าเมือง และผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเป็นจำนวนมากที่มีอาการและอาจเป็นพาหะนำโรคเข้ามาแพร่ในประเทศได้ การให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการกำหนดให้บุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ออกตามข้อกำหนดภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งในขั้นตอนก่อนการเดินทาง การเข้ารับการกักกันตัวตามระยะเวลาและในสถานที่ที่รัฐกำหนด หรือการติดตามดูแลกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างที่พำนักอยู่ในประเทศ จึงเป็นการดำเนินการที่สำคัญและจำเป็นเพื่อปกป้องความมั่นคงปลอดภัยทางด้านสาธารณสุขของประเทศนอกเหนือไปจากมาตรการปกติที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม การจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใด ๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมจัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดด้วย