หน้า:ข้อกำหนดตาม ม ๙ (ฉ ๑๘, ๒๕๖๔-๐๑-๒๙).pdf/2

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๒๒ ง

๒๙ มกราคม ๒๕๖๔
หน้า ๔๔
ราชกิจจานุเบกษา

(๒) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ที่ต้องบังคับใช้มาตรการที่กำหนดไว้สำหรับเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามข้อกำหนด (ฉบับที่ ๑๖) ลงวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เว้นแต่เป็นกรณีที่กำหนดไว้เฉพาะตามข้อกำหนดนี้

(๓) พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่เฝ้าระวัง ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 กระทรวงมหาดไทย พิจารณาประเมินสถานการณ์และจัดกลุ่มจังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ โดยจำแนกออกเป็นระดับตามแนวทางและเงื่อนไขการจัดเขตพื้นที่สถานการณ์ที่ ศบค. กำหนด และเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อประกาศต่อไป

ข้อ ๒ การใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษา ให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท ยกเว้นที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ได้ตามความเหมาะสมและความพร้อม โดยรูปแบบของการดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ คำแนะนำของทางราชการ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข

ข้อ ๓ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่จำเป็นสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

(๑) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด อาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานที่ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดไว้เป็นการชั่วคราว หรือสั่งห้ามการทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ อย่างน้อยได้แก่สถานที่ดังต่อไปนี้ สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบอบนวด สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สถานประกอบการนวดแผนไทย ตู้เกม ร้านเกมและร้านอินเตอร์เน็ต สนามมวย สถานที่ออกกำลังกายในร่ม ยิ้ม ฟิตเนส สนามเด็กเล่น เครื่องเล่นเด็ก สวนสนุก สถานีขนส่งสาธารณะ

(๒) ห้ามการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย เช่น การประชุม การสัมมนา การจัดเลี้ยง เว้นแต่เป็นกิจกรรมที่มีลักษณะตามข้อยกเว้นตามที่กำหนดในข้อ ๒ ของข้อกำหนด (ฉบับที่ ๑๖) ลงวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔