หน้า:คดีอาญา - ถวิล ระวังภัย - ๒๔๗๗.pdf/23

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๖

อย่างไรก็ดี หลักแห่งการไม่ส่งคนสัญชาติตนข้ามแดนนั้นจะเป็นที่รับรองได้ก็ต่อเมื่อว่า ในกรณีใด ๆ ก็ดี พลเมืองที่หลบหนีเข้าไปในประเทศที่ตนสังกัดหลังจากได้ทำความผิดไว้ในต่างประเทศแล้ว ต้องสามารถที่จะจับกุมและฟ้องร้องให้วินิจฉัยความผิดนั้นได้ มิฉะนั้น ความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำไว้ก็จะพ้นอาชญาไป ซึ่งเป็นการขัดต่อประโยชน์ของมหาชน สำหรับประเทศสยาม มีประมวลอาชญา มาตรา ๑๐ ข้อ ๔ บัญญัติไว้ในเรื่องคนในบังคับสยามไปกระทำผิดภายนอกสยามประเทศ จะต้องรับอาชญาภายในพระราชอาณาจักร์

การใช้หลักไม่ส่งคนสัญชาติตนข้ามแดนนั้นมีกรณีที่จะต้องระวังอีกเรื่องหนึ่ง คือ ในเมื่อการเปลี่ยนสภาพบุคคลผู้ต้องหา ประเทศต่าง ๆ มีความเห็นเป็นส่วนมากลงรอยกันว่า ถ้าผู้ต้องได้แปลงชาติก็ดี หรือเปลี่ยนสัญชาติด้วยการสมรสก็ดี เข้าถือสัญาแห่งประเทศที่ตนหลบหนีเข้ามาอาศัยหลังจากได้กระทำความผิดไว้แล้ว ย่อมไม่เป็นเหตุขัดขวางแก่การที่จะส่งข้ามแดนเลย ความดั่งกล่าวมานี้ได้อ้างในสัญญาต่าง ๆ เช่น สัญญาระหว่างอังกฤษกับเบรซิล ค.ศ. ๑๘๗๒ ข้อ ๓ สัญญาระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษ ค.ศ. ๑๘๗๖ ข้อ ๒ เป็นต้น แต่กฎหมายบางประเทศ เช่น ประมวลเยรมัน ค.ศ. ๑๘๗๐ มาตรา ๔ และกฎหมายเบลเยียมว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ค.ศ. ๑๘๗๔ มาตรา ๑๐ ได้วางหลักไว้อีกอย่างหนึ่ง