หน้า:ครื้มเรือนอนุสรณ์ - ๒๕๐๘.pdf/73

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
รัตนมณีแห่งโลกุตรปัญญา

คำนำจากต้นฉบับเดิม

ต้นฉบับเดิมของรัตนมณีแห่งโลกุตรปัญญา (The Jewel of Transcendental wisdom) เป็นภาษาสันสกฤตชื่อว่า วชฺรกฺเขทิกปรฺชฺญาปารมิตาสูตร วชฺรกฺเขทิก (เครื่องตัดเพชร) นี้เป็นคัมภีร์ฉบับเล็กฉบับหนึ่งของมหาปรฺชฺญาปารมิตา คำว่า สูตร ในภาษาสันสกฤตนั้นหมายถึง วรรณกรรมอันยิ่งใหญ่ หรือคำจารึกพระเวทอันศักดิ์สิทธิ์ หรือคำเทศนาอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ แต่ทางพุทธศาสนาได้ใช้คำนี้เฉพาะกับคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ของหลักธรรมทางศาสนาเท่านั้น (โลกุตรปัญญา = ปัญญาอย่างสูงเลิศที่จะทำให้ได้บรรลุพระนิพพาน)

มหาปรัชญาปารมิตานี้เป็นคัมภีร์หนึ่งในบรรดาคัมภีร์ทั้งหลายของหลักธรรมอันยิ่งใหญ่ฝ่ายมหายาน (ฝ่ายเหนือ) และเป็นคัมภีร์ที่ใหญ่ที่สุด นับเป็นหนังสือจำนวนหลาย ๆ เล่ม แต่ละเล่มส่วนมากเป็นแบบปุจฉาวิสัชนาระหว่างพระพุทธองค์กับพระมหาสาวกองค์ใดองค์หนึ่ง ที่จริงแล้ว ข้อปุจฉาและวิสัชนาเหล่านี้ไม่น่าจะได้จารึกไว้ตามแนวเทศนาอย่างแท้จริงนัก เพราะเหตุว่าพระพุทธองค์มิได้จารึกคำสอนไว้เลย และแม้ว่าพระพุทธองค์จะได้ปรินิพพานไปแล้วเป็นเวลานานจึงได้มีการจารึกคำสอนกันในภายหลัง แต่หลักธรรมส่วนใหญ่ของฝ่ายมหายานก็ยังเกิดขึ้นหลังจากนั้นอีกมาก อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่เชื่อมั่นกันว่า หลักธรรมดังกล่าวนี้ได้ประมวลเอาคำสอนอันลึกซึ้งของพระศาสดาไว้ทั้งสิ้น คำสอนเหล่านี้ได้ถ่ายทอดกันมาด้วยปากเปล่าจากอนุชนรุ่นหนึ่งไปยังอนุชนอีกรุ่นหนึ่ง ในบรรดาผู้ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่า ได้ประสบสัจจธรรมแก่ตนเองในทางปฏิบัติ แต่ก็ไม่อาจยืนยันได้แน่นอนว่า จากการถ่ายทอดกันทางปากเหล่านี้ ได้เริ่มจารึกเป็นคัมภีร์ไว้แต่เมื่อใด ใครเป็นผู้จารึก จารึกไว้เพราะเหตุใด แม้จะค้นคว้ากันต่อไปอีกเท่าใด ก็คงได้หลักฐานในลักษณะเพียงนี้เท่านั้น