หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/24

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
๒๑

ที่พระปกเกล้าฯ รับสั่งเช่นนี้ พระยาพหลพลพยุหเสนาเห็นว่า พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นคนโลภ คงจะถอยหลังเข้าคลอง ในวันที่ไปเฝ้าพระปกเกล้าฯ นี้เลยไม่ได้พูดถึงเรื่องที่จะแก้ไขเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม เพราะพระราชวิจารณ์ได้ออกมาเสียแล้ว ในวันนั้นเองจึงได้พากันโดยสารรถไฟกลับกรุงเทพฯ ระหว่างมาในรถไฟได้พูดกันว่า พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้ออกความเห็นไม่รับหลักการเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม และให้หลวงประดิษฐมนูธรรมไปต่างประเทศ เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ฟังดังนั้นก็นึกเอะใจ เพราะไม่เคยคิดหรือพูดอย่างที่กล่าวเลย การที่กล่าวเช่นนี้ คงจะเกิดแตกร้าวกันในระหว่างคณะผู้ก่อการกับคณะกรรมการราษฎร ในเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรมนั้น โดยพระยาทรงสุรเดชกับหลวงประดิษฐมนูธรรมมีความเห็นขัดกัน

ตั้งแต่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้เป็นประธานคณะกรรมการราษฎรแล้ว ก็ได้บริหารราชการแผ่นดินและประพฤติตนไปในทางที่เป็นปฏิปักข์และบั่นทอนคณะผู้ก่อการให้หมดอำนาจไปที่ละเล็กละน้อย และทำให้เสื่อมประโยชน์แก่แผ่นดินที่ควรมีควรได้ กล่าวคือ คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีความประสงค์ที่จะจัดการปกครองให้ก้าวหน้าไปโดยเร็วที่สุด ส่วนพระยามโนปกรณ์นิติธาดานั้น มีความประสงค์จะบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปอย่างเดิม จึงเป็นสาเหตุให้โต้แย้งคัดค้านกับคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นส่วนมาก และกระทำให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ไม่พอใจในวิถีทางการของผู้ก่อการ แต่คณะผู้ก่อการส่วนมากรู้เท่าถึงการที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ปฏิบัติการไป จึงได้พยายามโต้แย้งคัดค้าน พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเห็นว่าจะกระทำไปตามความประสงค์ของตัวนั้นไม่ตลอดปรอดโปร่ง จึงไปทอดสนิทกับพระยาทรงสุรเดช ซึ่งในเวลานั้นเป็นผู้มีอำนาจในทางทหาร ในเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕ พระยาทรงสุรเดช ได้เรียกผู้ก่อการชั้นผู้น้อย