หน้า:คำวินิจฉัยศาล รธน ๒๕๖๔-๒๐ (ต้น).pdf/9

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว


ตราครุฑ
ตราครุฑ
– ๙ –

ที่อาจก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และส่งผลกระทบต่อการดํารงชีวิตของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖

สําหรับข้อโต้แย้งที่ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๕๕ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ นั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติให้บุคคลย่อมเสมอกันตามกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ มีเสรีภาพในการดําเนินชีวิตภายใต้หลักความเสมอภาคตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอันเป็นสาระสําคัญของบุคคล กล่าวคือ บุคคลที่มีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสําคัญเหมือนกัน ย่อมต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน ขณะเดียวกันบุคคลที่มีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสําคัญแตกต่างกัน ย่อมได้รับการปฏิบัติแตกต่างกัน นอกจากนั้น หลักความเสมอภาคของสิทธิในการจัดตั้งครอบครัวเกี่ยวกับเพศของคู่สมรสสามารถดําเนินการได้โดยบัญญัติกฎหมายเฉพาะขึ้นมาใหม่เพื่อไมให้กระทบกระเทือนถึงกฎหมายหลักที่ได้วางรากฐานความเป็นสถาบันครอบครัวมาตั้งแต่อดีตกาล ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ว่าด้วยครอบครัว บัญญัติให้ชายและหญิงเท่านั้นที่มีสิทธิสมรสกันตามกฎหมาย แม้จะดูเหมือนเป็นการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๕๕ เป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาสาระมีเหตุผลสอดคล้องตามธรรมชาติ (True law is right reason, harmonious (in agreement) with nature) และเป็นไปตามขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีของสังคมไทย นอกจากการกําหนดให้สิทธิชายและหญิงเท่านั้นที่จะสมรสกันได้ตามกฎหมายแล้ว ยังมีบทบัญญัติอื่น ๆ ที่ดูเหมือนเป็นการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล เช่น การกําหนดให้ชายหญิงที่จะหมั้นหรือสมรสกันต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ตามมาตรา ๑๔๓๕ และมาตรา ๑๔๔๘ ทรัพย์สินของหมั้นและสินสอดจะมีใต้แต่เฉพาะชายหมั้นหญิงตามมาตรา ๑๔๓๗ การห้ามชายหญิงที่เป็นญาติสืบสายโลหิตสมรสกันตามมาตรา ๑๔๕๐ การห้ามจดทะเบียนซ้อนตามมาตรา ๑๔๕๒ และการห้ามหญิงหม้ายสมรสใหม่ภายในสามร้อยสิบวันตามมาตรา ๑๔๕๓ แท้จริงแล้ว บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่การจํากัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล แต่เป็นการบัญญัติขึ้นโดยมีพื้นฐานบนหลักเหตุและผลทั้งสิ้น เช่น การห้ามบุคคลที่มีอายุตํากว่าสิบเจ็ดปีหมั้นและสมรสกันเป็นความเหมาะสมของสภาพร่างกายตามธรรมชาติ ของหมั้นเป็นไปตามขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณี การห้ามชายหญิง