ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ กำหนดเงื่อนไขของการสมรสไว้เฉพาะชายและหญิงเท่านั้นที่สามารถสมรสเป็นคู่สมรสและเป็นสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายได้ อันเนื่องมาจากพื้นฐานของสังคมไทยที่ผูกพันกับหลักศาสนา จารีตประเพณี และบรรทัดฐานของสังคม แม้ทางการแพทย์ได้ให้การยอมรับในพฤติกรรมของการรักเพศเดียวกันว่า มิได้เกิดจากอาการผิดปกติทางจิตก็ตาม แต่การอนุญาตให้มีการจดทะเบียนสมรสโดยบุคคลที่มีเพศเดียวกันก็อาจจะขัตต่อศีลธรรมอันดีหรือจารีตประเพณีของสังคมได้ ซึ่งคำว่า "เพศ" (sex) หมายถึง ลักษณะทางชีวภาพที่ใช้ในการแบ่งแยกกลุ่มมนุษย์ออกเป็นผู้หญิงและผู้ชาย ส่วน "สถานะเพศ" (gender) หมายถึง ลักษณะในเชิงสังคมและจิตวิทยาสังคมที่ใช้เป็นพื้นฐานในการแบ่งแยกกลุ่มมนุษย์ว่า "เป็นหญิง" "เป็นชาย" การที่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอ้างว่า ตนมีเสรีภาพโนการที่จะอยู่กินกับบุคคลใดย่อมสามารถขอจดทะเบียนสมรสได้นั้นเป็นเพียงความรู้สึกและความพึงพอใจทางเพศหรือรสนิยมทางเพศที่วัดจากการแสดงออกหรือบทบาททางเพศที่แสดงออกในลักษณะของความชอบ โดยอาจเรียกกลุ่มคนที่มีรสนิยมทางเพศแบบนี้ว่า บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือบุคคลที่เกิดมามีภาวะทางร่างกายหรือจิตใจไม่ตรงกับเพศที่มีมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลากหลาย เช่น คนที่ชอบเพศตรงข้าม คนที่ชอบเพศเดียวกัน หรือคนที่ชอบทั้งสองเพศ เป็นต้น ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่จะขอจดทะเบียนสมรสกันได้ต้องเป็นชายกับหญิงเท่านั้น และการเป็นชายหรือหญิงต้องถือเอาตามเพศที่มีมาแต่กำเนิดเป็นเกณฑ์ บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ จึงไม่อาจจดทะเบียนสมรสได้ อีกทั้งประเทศไทยมีแนวความคิดที่ว่า การสมรสเกิดขึ้นได้เฉพาะชายและหญิงที่ถือเพศมาแต่กำเนิด ซึ่งวัตถุประสงค์ของการสมรส คือ การที่ชายและหญิงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาเพื่อสร้างสถาบันครอบครัวมีบุตรและดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติเท่านั้น และยังมิได้มีการบัญญัติกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิในการสมรสของบุคคลกลุ่มดังกล่าวเช่นในต่างประเทศ
สำหรับข้อโต้แย้งของผู้ร้องทั้งสองว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๔ ที่กำหนดให้การสมรสกระทำได้ระหว่างชายและหญิงเท่านั้นเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ เห็นว่า แม้ว่าปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญจะได้บัญญัติรับรองคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล โดยกำหนดให้บุคคลย่อมเสมอกันตามกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ มีเสรีภาพในการดำเนินชีวิต ภายใต้หลักความเสมอภาคของรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่การใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวก็ต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น เคารพกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งจารีตประเพณี ศาสนา วัฒนธรรม และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมของรัฐหรือประเทศนั้น ๆ ด้วย มาตรา ๑๔๔๘ ไม่ได้จำกัดเสรีภาพ