หน้า:คำวินิจฉัย ของศาล รธน (๒๕๕๖-๐๕).pdf/8

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๗๕ ก

๓ กันยายน ๒๕๕๖
หน้า ๘
ราชกิจจานุเบกษา

ซึ่งแทบไม่มีข้อโต้เถียงในข้อเท็จจริงดังกล่าว เนื่องจากมีการจดทะเบียนไว้ต่อทางการแล้ว แทนที่โจทก์จะต้องนำสืบพิสูจน์ด้วยว่า จำเลยคนใดมีส่วนร่วมกระทำความผิดอย่างไร ซึ่งไม่น่าจะมีความยากลำบากในการแสวงหาพยานหลักฐานแต่อย่างใด การบัญญัติกฎหมายในลักษณะดังกล่าว ย่อมขัดต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญด้วย เพราะในการถูกดำเนินคดีอาญา อย่างน้อยก็ต้องหาหลักทรัพย์มาประกันตัวทั้งในชั้นพนักงานสอบสวนและในชั้นพิจารณา และยังต้องหาทนายความมาช่วยแก้ต่างเพื่อให้พ้นจากข้อสันนิษบานตามกฎหมาย ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกไม่น้อย ทั้งการที่กฎหมายตั้งข้อสันนิษฐานไว้เช่นนี้ ย่อมทำให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการดำเนินคดีแก่บุคคลเหล่านี้ในแบบเหมาหมด คือ สอบสวนเพียงให้ปรากฏว่า ผู้ต้องหาเป็นกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลซึ่งกระทำความผิดเท่านั้น แล้วฟ้องต่อศาลทั้งหมด ปล่อยให้จำเลยไปหาพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายเพื่อให้พ้นผิด หากหาพยานหลักฐานไม่ได้ ก็ต้องรับโทษ การที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ บัญญัติให้กรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบบุคล เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วยกับการกระทำของนิติบุคคลนั้น จึงเป็นการสันนิษฐานไว้แต่แรกแล้วว่า กรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลได้กระทำความผิดร่วมกับนิติบุคคลนั้นด้วย ซึ่งการออกพระราชบัญญัติประเภทนี้ ก็มักจะใช้เหตุผลทำนองเดียวกันว่า พยานหลักฐานต่าง ๆ จะอยู่กับฝ่ายจำเลยเป็นส่วนใหญ่ จึงผลักภาระไปให้จำเลยเป็นฝ่ายพิสูจน์ตนเองให้พ้นผิด โดยอ้างว่า จำเลยเป็นฝ่ายรู้ข้อเท็จจริงมากกว่า ทั้งยังอ้างว่า การกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเหตุผลทั่วไปที่รัฐใช้เป็นข้ออ้างในการออกกฎหมายที่มีลักษณะเช่นนี้ การผลักภาระการพิสูจน์ความผิดในคดีอาญาไปให้จำเลย นอกจากจะเป็นการขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไปทางอาญาดังกล่าวแล้ว ยังขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดอีกด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าวมา จึงมีความเห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ วรรคสอง

  • นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์
  • ประธานศาลรัฐธรรมนูญ