หน้า:จมห ประพาสต้น - ๒๔๗๗.pdf/16

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร

การเสด็จประพาสต้นเริ่มมีครั้งแรก เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) เสด็จโดยทางเรือจากพระราชวังบางปอิน ไปมณฑลราชบุรี แล้วกลับมามณฑลนครไชยศรี แลมณฑลอยุธยา (รายการเสด็จประพาสต้นครั้งแรก แจ้งอยู่ในหนังสือ "จดหมายเหตุนายทรงอานุภาพเล่าเรื่องประพาสต้น" ซึ่งหอพระสมุดฯ ได้พิมพ์แล้ว ๒ ครั้ง) เหตุที่จะเรียกว่าประพาสต้นนั้น เกิดเมื่อเสด็จในคราวที่กล่าวมานี้ เวลาจะประพาสมิให้ใครรู้ว่าเสด็จไป ทรงเรือมาดเก๋งสี่แจวลำ ๑ เรือนั้นลำเดียวไม่พอบันทุกเครื่องครัว จึงทรงซื้อเรือมาดประทุน ๔ แจวที่แม่น้ำอ้อมแขวงจังหวัดราชบุรีลำ ๑ โปรดให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช เป็นผู้คุมเครื่องครัวไปในเรือนั้น เจ้าหมื่นเสมอใจราช ชื่ออ้น จึงทรงดำรัสเรียกเรือลำนั้นว่า "เรือตาอ้น" เรียกเร็ว ๆ เสียงเป็น "เรือต้น" เหมือนในบทเห่ซึ่งว่า "พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย"

ฟังดูก็เพราะดี แต่เรือมาดประทุนลำนั้นใช้อยู่ได้หน่อยหนึ่ง เปลี่ยนเป็นเรือมาดเก๋ง ๔ แจวอีกลำ ๑ จึงโปรดให้เอาชื่อเรือต้นมาใช้เรียกเรือมาดเก๋ง ๔ แจวลำที่เป็นเรือพระที่นั่งทรง อาศัยเหตุนี้ ถ้าเสด็จประพาสโดยกระบวรเรือพระที่นั่งมาดเก๋ง ๔ แจว โดยพระราชประสงค์จะมิให้ผู้ใดทราบว่าเสด็จไป จึงเรียกการเสด็จประพาสเช่นนั้นว่า "ประพาสต้น" คำว่า "ต้น" ยังมีที่ใช้อนุโลมต่อมาจนถึงเครื่องแต่งพระองค์ ในเวลาทรงเครื่องอย่างคนสามัญ เสด็จไปประพาสมิให้ผู้ใดเห็นแปลกประหลาทผิดกับคนสามัญ ดำรัสเรียกว่า "ทรงเครื่องต้น" ต่อมาโปรดให้ปลูกเรือนฝากระดานอย่างไทย เช่นพลเรือนอยู่กันเป็นสามัญ ขึ้นที่ในพระราชวังดุสิต ก็พระราชทานนามเรือนนั้นว่า "เรือนต้น" ดังนี้