หน้า:ตำนานคณะสงฆ์ - ดำรง - ๒๔๖๖.pdf/16

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๑

แก่พระเถระเหล่านั้นว่า การที่พระราชทานเครื่องไทยธรรมต่าง ๆ ถึงจะมีมากมายเท่าใด ก็จะไม่ปรากฎพระเกียรติยศถาวรเท่าพระราชทานนามบัญญัติ เพราะไทยธรรมทั้งหลายย่อมอาจจะกระจัดพลัดพรายหายสูญไปได้ แต่ส่วนราชทินนามนั้นย่อมจะปรากฎถาวรอยู่จนตลอดอายุขัยของพระผู้เปนเจ้าทั้งหลาย มีรับสั่งดังนี้แล้ว จึงพระราชทานพระราชทินนามแก่พระมอญที่ไปแปลง ๒๒ รูป คือ ตั้งพระโมคคัลลานะเถระให้มีนามว่า พระสิริสังฆโพธิสามี พระมหาสีวลีเถระให้มีนามว่า พระติโลกคุรุสามิ เปนต้น ความข้อนี้ทำให้เห็นได้ว่า ในลังกาเขาคงมีประเพณีตั้งราชทินนามตั้งสมณศักดิ์มาก่อนนั้นนานแล้ว ในหนังสือรามัญสมณวงศ์นั้นยังมีเนื้อความอิกแห่ง ๑ ว่า เมื่อพระเถระมอญทั้งหลายที่ไปแปลงกลับมาถึงเมืองหงสาวดี พระเจ้ารามาธิบดีมีรับสั่งจะให้บวชแปลงพระภิกษุในเมืองหงสาวดีต่อไป ท่านพวกพระที่ไปแปลงมาจากลังกาถวายพระพรว่า เมื่อจะบวชแปลงนั้น พระสงฆ์ลังกาได้บังคับให้สึกเปนคฤหัสถ์เสียก่อน แล้วจึงให้บวชแลนับพรรษาใหม่ จะเปนอุปัชฌายะยังไม่ได้ พระเจ้าหงสาวดีจึงทรงสืบแสวงหาพระเถระที่จะเปนพระอุปัชฌายะ ได้ทรงทราบว่า มีพระมหาเถระชื่อ พระสุวรรณโสภณ (น่าแปลว่า “ทองดี” ถ้าเช่นนั้นเปนไทย) ได้ไปแปลงมาจากลังกาแต่ก่อนนั้น อยู่ในเมืองหงสาวดีรูป ๑ จึงมีรับสั่งให้นิมนต์มาถาม พระสุวรรณโสภณถวายพระพรว่า ได้ออกไปแปลงในอุทกุกเขปสีมาณมหาชาตสระที่เมืองชื่อว่า กลัมพุ (เห็นจะเปนที่เมืองโกลัมโบ) ในลังกาทวีป พระมหาสังฆราชองค์เก่าชื่อว่า วันรัตนมหาเถระ เปนพระ