หน้า:ตำนานคณะสงฆ์ - ดำรง - ๒๔๖๖.pdf/9

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เข้าใจว่า พวกพระภิกษุในพระพุทธสาสนาเหล่าที่ถือลัทธิอื่นที่ไม่นิยมยอมประพฤติตามลัทธิของสงฆมณฑลที่พระเจ้าอโศกทรงอุปการะจะยังมีไม่หมดเชื้อในคราวทำตติยสังคายนานั้น แม้การที่พวกเดียรถีย์เข้าปลอมบวชก็น่าจะยังมีต่อมา จะจำเปนต้องอาศรัยพระราชานุภาพของพระเจ้าอโศกช่วยป้องกันสงฆมณฑลให้พ้นจากความเศร้าหมองด้วยเหตุดังกล่าวมาแล้วอยู่เนือง ๆ การปกครองคณะสงฆ์ในประเทศที่พระพุทธสาสนาเปนประธานจึงต้องอาศรัยอำนาจพระราชอาณาจักรอุดหนุนแต่นั้นเปนเดิมมา

เมื่อพระพุทธสาสนาเจริญแพร่หลาย มีพระภิกษุสงฆบริษัทออกมาประดิษฐานถึงนานาประเทศ ความจำเปนต้องการพระราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินผู้เปนพุทธสาสนูปถัมภกในประเทศนั้น ๆ เกื้อกูลแก่การปกครองคณะสงฆ์ยิ่งมีมากขึ้น แม้ด้วยเหตุ ๒ ประการเปนอย่างน้อย คือ ประการที่ ๑ ที่ขนบธรรมเนียมบ้านเมืองแลอัธยาศรัยใจคอผู้คนในนานาประเทศซึ่งพระพุทธสาสนาไปประดิษฐานนั้นย่อมผิดกับในมัธยมประเทศที่พระพุทธองค์ทรงประดิษฐานสงฆบริษัท ประการที่ ๒ พระภิกษุสงฆ์ซึ่งไปจากประเทศอื่น ตั้งต้นแต่พระมหาเถระชาวมัธยมประเทศ เช่น พระมหินทรเถรซึ่งเชิญพระพุทธสาสนาไปประดิษฐานในลังกาทวีปก็ดี พระโสณ พระอุตร ซึ่งเชิญพระพุทธสาสนามาประดิษฐานในสยามประเทศนี้ก็ดี หรือแม้ในชั้นหลังลงมา เมื่อชนชาวประเทศไทย เขมร มอญ พม่า แลลังกาทวีป นับถือพระพุทธสาสนามั่นคง มีพระสงฆบริษัทเกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้แลไปมาถึงกัน