หน้า:นิทานไทย - ชัยศรี ศรีอมร - ๒๕๑๒.pdf/211

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๖๙

ในขณะนั้น พวกอำมาตย์ได้ฟังพระราชธิดาตรัสดั่งนั้น ก็ให้ประโคมดนตรีขึ้นพร้อมกันเป็นครั้งที่สาม.

ครั้นเวลาใกล้รุ่ง สรรพสิทธิ์กุมารจึ่งนำเอาดวงจิตของอำมาตย์ไปวางไว้ที่พระเขนย แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับออกมาอยู่ที่เดิม แล้วตรัสถามว่า หญิงที่มีรูปร่างงดงาม มีสัมผัส[1] ละเอียดอ่อน ถ้าจะเอาสัมผัสของหญิงเห็นปานนี้มาเปรียบกับสัมผัสปุยนุ่นแล้ว ข้างไหนจะอ่อนกว่ากัน หรือจะมีสัมผัสอะไรละเอียดอ่อนกว่านี้อีก. ดวงจิตของอำมาตย์นั้นจึ่งกราบทูลว่า "สัมผัสปุยนุ่นอ่อนกว่าสัมผัสใด ๆ หมด."

ฝ่ายพระราชธิดาได้ฟังดั่งนั้น ก็ทรงเห็นว่า ไม่ถูกอีก จึ่งค้านว่า "คำที่ท่านกล่าวนั้นไม่ถูก, ดวงจิตของสามีที่อ่อนละมุนนั้นแหละมีสัมผัสอันละเอียดอ่อนที่สุด จึ่งจะถูก."

ในขณะนั้น พวกอำมาตย์ได้ฟังพระราชธิดาตรัสขึ้นอีกดั่งนั้น ก็ให้ประโคมดนตรีขึ้นพร้อมกันเป็นครั้งที่สี่.


  1. สัมผัส ในที่นี้หมายถึง การถูกต้องด้วยกาย คือ กายไปถูกสิ่งใดเข้า ก็รู้สึกร้อนเย็น, แข็งอ่อน ฯลฯ