หน้านี้ได้ตรวจสอบแล้ว

แม้แต่โบราณมา ท่านผู้เปนใหญ่ในแผ่นดิน ตั้งต้นแต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลก่อน ๆ มา ก็ย่อมทรงเปนพระราชธุระทำนุบำรุงความรู้พงษาวดารตลอดมาแทบทุกรัชกาล ยกตัวอย่างเพียงในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้ ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ได้เปนพระราชธุระทรงชำระพระราชพงษาวดารกรุงเก่า แลโบรดให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย แต่เมื่อเสด็จดำรงพระเกียรติยศกรมพระราชวังบวรสถานมงคล[1] ทรงรับน่าที่ชำระหนังสือพงษาวดารเหนือ อันเปนเรื่องพงษาวดารตอนก่อนสร้างกรุงศรีอยุทธยาอิกเรื่อง ๑ มาในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดูเหมือนจะได้โปรดให้ผู้ใดรวบรวมเรื่องราวเมืองศุโขไทยครั้งเปนราชธานี ที่ว่าเปนหนังสือนางนพมาศแต่งเรื่อง ๑ แลได้ทรงอาราธนาให้กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงเรียงเรียงพระราชพงษาวดารต่อที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงไว้ คือ ตั้งแต่ตอนตั้งกรุงธนบุรีมาจนถึงปีชวด จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๕๔ พ.ศ. ๒๓๓๕ ในรัชกาลที่ ๑ หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับนี้ มาถึงในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้กรมหลวงวงษาธิราชสนิทชำระ แลทรงตรวจแก้ไขเองอิกครั้ง ๑ คือ พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช ได้ทรงพิมพ์เปนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ นั้น 


  1. ในคำอธิบายหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทนั้น ผิดไป