หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๒๑) - ๒๔๖๔.pdf/15

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว


เรื่องที่ไทยกับพม่าเจรจาความเมืองกันครั้งนี้หามีในหนังสือพระราชพงศาวดารไม่ ไปปรากฎอยู่ในหนังสือพระยากาญจนบุรีตอบครั้งพม่าขอเปนไมตรีเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖ ว่า “เมื่อปีมโรง (จุล) ศักราช ๑๑๔๖ (พ.ศ. ๒๓๒๗) พม่ากับไทยก็ได้เจรจากันณตำบลอังงิว ปลายน้ำปิลอก ตำบลด่านพระเจดีย์สามองค์ ว่า จะเปนทางพระราชไมตรีจนถึงได้ให้ของตอบแทนกัน ในเดือนนั้น พม่าก็มาจับเอาคนทางเมืองเพ็ชรบุรีไป ๙ คน ครั้น (จุล) ศักราช ๑๑๔๗ (พ.ศ. ๒๓๒๘ คือ แต่เจรจากันมาได้ปี ๑) พระเจ้าอังวะก็ยกทัพมา ฝ่ายกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในกรุณาการุญแก่ประชากรพวกพลทั้ง ๒ ฝ่าย เพื่อจะให้พ้นชีวิตันตราย จึงให้นายขานสร้อย ตองสินสู่ ซึ่งเปนพม่าด้วยกันถือ หนังสือออกมาว่ากล่าวก็มิฟัง” มีเรื่องราวปรากฎในจดหมายเหตุเพียงเท่านี้ แต่เมื่อพิเคราะห์ดูเรื่องพงศาวดารทั้ง ๒ ประเทศในสมัยนั้น เห็นพอจะอธิบายเหตุการณ์ที่พม่าขอเปนไมตรีครั้งนั้นได้โดยทางสันนิษฐานคือ:—

เมื่อพระเจ้ามังระครองแผ่นดินพม่า ให้มาตีกรุงศรีอยุธยาได้เมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐ ต่อมาในไม่ช้า ขุนหลวงตากก็กลับตั้งเมืองไทยเปนอิศรภาพอิก พม่าพยายามให้กองทัพมารบพุ่งปราบปรามหลายครั้งก็แตก