หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๒๑) - ๒๔๖๔.pdf/20

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

จะไม่ทำสัตย์แล้ว แต่จะไม่ทำยุทธสงครามแก่กัน ต่างคนต่างอยู่ประการใด ให้เสนาบดีเอาเนื้อความทูลแก่พระเจ้าอังวะ จะประพฤติฉันใดก็ให้แต่งขุนนางพม่าเปนทูตานุทูต (มา) กับขุนนาง (ไทย) ผู้ใหญ่ซึ่งไม่พอใจรบศึกเสียกรุง ซึ่งพม่ากวาดเอาไปไว้นั้น ถ้าผู้ใหญ่ไม่มีแล้ว จนแต่หัวหมื่นมหาดเล็กก็เอาเถิด ให้มาสักสามนายสี่นายกับพระสงฆ์อันทรงศิลสังวรบริสุทธิ จะได้เปนสักขีทิพพยาน จึงจะเปนสัตย์มั่นคงได้ ถ้ากรุงอังวะแต่งมาได้ดังนี้ จะบอกเข้าไปให้ท่านอรรคมหาเสนาบดีผู้ใหญ่เอาเนื้อความกราบทูลพระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ ถ้ามิทำได้ อย่าเจรจากันต่อไปเลย ต่างคนต่างประพฤติโดยยถานุฌาไศรย (เถิด)

การที่พม่ากับไทยเจรจาความเมืองกันครั้งที่ ๒ ที่พรรณามาตอนนี้ น่าสงไสยว่า หนังสือพระราชพงศาวดารจะลงไว้ผิดปี เพราะเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๗๖ นั้น เปนปีที่ไทยรบกับพม่าที่เมืองทวาย ดูไม่เปนโอกาศที่จะเจรจาความเมืองกัน โดยถ้าหากว่าพม่าจะมาชวนเปนไมตรีเมื่อเลิกการสงครามที่เมืองทวายแล้ว ก็เห็นจะต้องกล่าวถึงการที่รบกันครั้งนั้นในหนังสือด้วยมิมากก็น้อย นี่เรื่องเมืองทวายดูไม่มีวี่แววที่จะว่าในหนังสือเสียทีเดียว จึงสงไสยว่าจะเปนการก่อนปีฉลู พ.ศ. ๒๓๗๖