หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๒๑) - ๒๔๖๔.pdf/52

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๔๐

ครั้นถึงปีชวด พ.ศ. ๒๓๔๗ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้กองทัพยกขึ้นไปตีได้เมืองเชียงแสน ขับไล่พม่าหนีข้ามแม่น้ำโขงไปหมดแล้ว ทรงพระราชดำริห์ว่า ถ้าปล่อยไว้ พม่าจะไปตั้งมั่วสุมในหัวเมืองไทยใหญ่แลลื้อเขินที่ติดต่อเขตรแดน แล้วยกกลับลงมารบกวนมณฑลภาคพายัพอิก การศึกเปนท่วงทีอยู่ด้วยพม่ากำลังแตกหนี จึงโปรดให้กองทัพยกตามขึ้นไปตีหัวเมืองไทยใหญ่แลลื้อเขินอันเปนของพม่าเมื่อปลายปีชวด พ.ศ. ๒๓๔๗ พวกประเทศราชเมืองลื้อในแว่นแคว้นสิบสองปันนา มีเจ้าเมืองเชียงรุ้งเปนต้น ทั้งพวกประเทศราชเมืองเขิน มีมหาขนานเจ้าเมืองเชียงตุงเปนต้น ตลอดจนเจ้าเมืองแสนหวีไทยใหญ่ เห็นว่า พม่าพ่ายแพ้ไทย ก็หวาดหวั่นครั้นคร้าม พากันมาอ่อนน้อมยอมเปนข้าขอบขัณฑเสมาโดยมาก กองทัพไทยที่ยกขึ้นไปครั้งนั้น พระเจ้าเชียงใหม่ (กาวิละ) เปนนายทัพคนสำคัญ ได้ตัวเจ้านายแลครัวลื้อเขินส่งลงถวายเปนอันมาก แต่พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริห์ว่า อาณาเขตรไทยใหญ่แลลื้อเขินอยู่ในระหว่างแดนไทยจีนแลพม่า ยากที่จะรักษาไว้ให้มั่นคง จึงโปรดให้เจ้านายที่มาสามิภักดิ์รับครัวกลับคืนไปครอบครองบ้านเมืองอย่างเดิม ครั้งนั้นพระราชอาณาเขตรกรุงสยามก็แผ่ขึ้นไปจนจดแดนจีนทางด้านเหนือ แลล่วงเข้าไปในแดนประเทศราชไทยใหญ่ของพม่าทางด้านตวันตกเฉียงเหนือด้วย