หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๒๑) - ๒๔๖๔.pdf/53

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๔๑

ในตอนนี้พระเจ้าปดุงเห็นจะให้กองทัพพม่ายกขึ้นไปโดยประสงค์จะปราบปรามเมืองประเทศราชไทยใหญ่แลลื้อเขินที่โจทมาสามิภักดิ์แก่ไทย พวกเจ้าเมืองเหล่านั้นเปนญาติวงศ์เกี่ยวดองกันโดยมาก พากันรู้สึกเสมออย่างว่า “อยู่ในระหว่างเขาควาย” เกรงอันตรายทั้งสองฝ่าย จึงคบคิดกันในบางเมืองบอกไปยังราชธานีประหนึ่งว่าได้เกลี้ยกล่อมเมืองเชียงใหม่กลับไปยอมสามิภักดิ์ต่อพม่าได้ ประสงค์จะให้พระเจ้าปดุงพอพระหฤไทยสิ้งสงไสยพวกหัวเมืองเหล่านั้น จะได้เลิกการที่ส่งกองทัพมาปราบปราม ชั้นเดิมพระเจ้าปดุงก็หลงกลพวกประเทศราช ทีหลังมาได้วี่แววจะมิใช่ความจริง จึงคิดอุบายซ้อนกลเหมือนอย่างว่า “จะขายออกตัวแก่ไทย” จึงให้ส่งพระยาพิมพิสารเข้ามาให้ไทย อ้างเอาบุญคุณให้เห็นว่ายังอยากจะเปนไมตรีกับไทย แต่ที่แท้นั้นประสงค์จะให้ที่ในกรุงเทพฯ เกิดแหนงกับพระเจ้าเชียงใหม่กาวิละ ถ้าถอดถอนพระเจ้ากาวิละซึ่งเปนนายทัพคนสำคัญของไทยข้างฝ่ายเหนือเสียได้ ก็จะเปนประโยชน์แก่พม่า เพราะฉะนั้น การที่พม่ามาเจรจาความเมืองครั้งปีมโรง พ.ศ. ๒๓๕๑ นี้เปนกลอุบาย หาได้มาโดยสุจริตไม่

ผลของเจรจาความเมืองครั้งที่ ๕ นี้ยังมียืดยาวต่อไปอิก ความปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารยุติต้องกับในพงศาวดารพม่าว่า ในการที่พระเจ้าปดุงเพลิดเพลินไปในทางที่จะเปนเอกอรรคสาสนูปถัมภกนั้น กลับเปนเหตุให้เกิดความเดือดร้อนร้ายแรง ด้วยพระเจ้าปดุงทรงจัดการแก้ไขลัทธิในสมณะมณฑลตามอำเภอพระราชหฤไทย พระสงฆ์ใน