หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๒๑) - ๒๔๖๔.pdf/54

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๔๒

เมืองพม่าพากันได้ความเดือดร้อนเปนอันมาก ฝ่ายราษฎรพลเมืองก็ได้ความเดือดร้อนที่ถูกกะเกณฑ์ไปสร้างพระเจดีย์ใหญ่ที่เมืองเมงกุน พากันระส่ำระสาย เสนาบดีพม่าปฤกษากันว่าจะต้องคิดอ่านให้พระเจ้าปดุงเลิกความเพลิดเพลินในการบำรุงพระสาสนาเสีย คิดเห็นกันว่า แต่ก่อนพระเจ้าปดุงโปรดทำศึกสงคราม จะต้องคิดอ่านชักชวนให้ไปคิดทำศึกสงคราม จึงจะเลิกที่หลงบำรุงพระสาสนา นัยว่า เสนาบดีชวนให้ไปทำศึกทางเมืองมณีบุระข้างฝ่ายเหนือ แต่ประจวบเวลาทูตพม่าที่เข้ามาเจรจาความเมืองครั้งปีมโรงกลับไปถึงเมืองพม่า ทำนองจะไปทูลพระเจ้าปดุงว่า ที่ในเมืองไทย แม่ทัพนายกองที่เคยทำศึกสงครามมาแต่ก่อน เช่นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเปนต้น หมดตัวไปเสียมากแล้ว พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ทรงพระชราทุพพลภาพ พระเจ้าปดุงได้ทราบความดังนี้ จึงให้เตรียมกองทัพจะยอกมาตีเมืองไทยอิกครั้ง ๑ ให้อะเติงหวุ่นเปนแม่ทัพใหญ่ ลงมาเกณฑ์คนตามหัวเมืองพม่าแลเมืองมอญ ตลอดลงมาจนเมืองทวาย เปนจำนวนคน ๔๐๐๐๐ ให้มาตั้งประชุมทัพที่เมืองเมาะตะหมะ แล้วจะยกเข้ามาตีกรุงเทพฯ แต่เวลานั้นราษฎรในเมืองพม่ากำลังเดือดร้อนระส่ำระสาย พวกที่ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพพากันหลบหนีเสียเปนอันมาก อะเติ่งหวุ่นแม่ทัพเกรงความผิด มีหนังสือลับขึ้นไปถึงเสนาบดีพม่าขอให้ช่วยทูลทัดทานในเรื่องที่จะยกกองทัพใหญ่เฃ้ามาตีกรุงเทพฯ เสนาบดีจึงไปทูลพระเจ้าปดุงว่า การที่จะไปตีเมืองไทยนั้น เกรงจะเสียพระเกียรติยศ ด้วยพึ่งโปรดให้ทูตเข้าไปเจรจาความเมืองเพื่อจะเปนไมตรีมาไม่ช้านัก ถ้ายกทัพจู่ไป ก็จะเกิด