หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๒๑) - ๒๔๖๔.pdf/7

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ก็มิได้ย่อท้อ, ทั้งนี้ก็เพราะเปนผู้ที่มีใจจงรักต่อเจ้านายของตนติดสันดาน ทั้งมีร่างกายกำลังวังชาแขงแรง และมีนิสัยชอบการเตร็จเตร่แต่เดิมมาด้วย ได้เคยไปเที่ยวหัวเมืองหลายจังหวัดแทบมณฑล ที่ชำนาญมากทางตวันตกและตวันออก ครั้ง ๑ เมื่อพระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ (ดั่น อัมรานนท์) ออกไปเปนข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลเขมร ได้ทูลขอจางวางแย้ม สินศุข ต่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพรภาณุพันธุวงศ์วรเดชให้ออกไปราชการครั้งนั้นด้วย เพื่อได้ช่วยจัดเรื่องเกวียนราษฎรที่เกี่ยวแก่การพาหนะในมณฑลนั้น, ทรงเห็นว่ากิจการในน่าที่จางวางฝีพายในกรมชั้นหลัง ๆ ขณะนั้นเบาบางไม่สำคัญเหมือนชั้นก่อน ๆ แล้วจึงทรงอนุญาต ภายหลังเมื่อจางวางแย้ม สินศุข กลับเข้ามาแล้ว ก็คงรับราชการในกรมตามน่าที่จางวางฝีพายอยู่ตามเดิม เพราะตำแหน่งที่สูงขึ้นไปกว่ายังไม่มีว่าง ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๔๖ เจ้ากรมในขณะนั้นซึ่งยังมีบรรดาศักดิ์เปนพระภาณุพันธ์ธุวงศ์วรเดชอยู่นั้นมีความทุพพลภาพ หลวงภูเบศรบริบาลปลัดกรมต้องทำการในน่าที่เจ้ากรม จึงโปรดให้จางวางแย้ม สินศุข ทำการในน่าที่ตำแหน่งปลัดกรม, ถึงพ.ศ. ๒๔๔๘ เลื่อนขึ้นทำการในน่าที่ตำแหน่งเจ้ากรมต่อมา ครั้นถึงรัชกาลปัตยุบันนี้เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๔ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดชได้ดำรงพระอิศริยยศเลื่อนขึ้นเปนสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยา ตำแหน่งข้าหลวงน้อยประจำกรมก็เลื่อนบรรดาศักดิ์ตามลำดับ คือ เจ้ากรมเปนพระยา ปลัดกรมเปนพระ สมุห์บาญชีเปนหลวง จึงโปรดตั้งให้เจ้ากรมแย้ม สินศุข เปนพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช รับราชการในหลวงและในกรมสมตำแหน่งน่าที่เปนอันดี ได้รับตำแหน่งนี้คงที่ตลอดมาจนถึงแก่กรรม