หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๒๑) - ๒๔๖๔.pdf/91

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๗๙

ทั้งภายในภายนอกพระนคร แลคัมภีร์พระพุทธวจนะ คือ บาฬีอรรถกถาฎีกาทั้งปวง ก็มีบริบูรณ์ในกรุงเทพมหานครนี้ เราทั้งหลาย คือ พระภิกษุสงฆ์ ขออนุโมทนาเจริญเมตตาอวยพรมาถึงท่าน ขอท่านจงมีความศุขสัวสดิเจริญ แลประกอบความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยให้มั่น จงบำเพ็ญการกุศลทานศีลภาวนาสัมมาปฏิบัติ เพื่อเปนอุปนิสัยแก่ทางสุคติสวรรค์นฤพาน ให้บริบูรณ์ทุกประการเทอญ ฯ

ลิขิตมาณวัน ฯ ค่ำ ปีมเสงนักกษัตร นพศก (พ.ศ. ๒๔๐๐)

เหตุที่พม่ามาเจรจาความเมืองในรัชกาลที่ ๔ ไม่เกี่ยวข้องแก่การที่ชวนเลิกรบพุ่งกันเหมือนครั้งก่อน ๆ ที่ได้พรรณามาแล้ว ด้วยล่วงมาถึงสมัยนี้พม่าเสิยอาณาเขตรแก่อังกฤษเสียเปนอันมาก หัวเมืองที่ต่อแดนไทยอันเปนหนทางแลทำเลที่รบพุ่งกันแต่ก่อนตกไปเปนหัวเมืองขึ้นของอังกฤษคั่นแดนไทยกับพม่าตลอดข้างตอนใต้ แดนไทยกับพม่ายังต่อติดกันแต่ทางเมืองประเทศราชไทยใหญ่ของพม่ากับมณฑลภาคพายัพข้างฝ่ายเหนือ เพราะฉนั้น ทูตพม่าที่มาคราวนี้จึงมาทางเมืองเชียงใหม่ มิได้มาทางเมืองกาญจนบุรีดังครั้งก่อน ๆ

ความประสงค์ของพม่าที่แต่งทูตเข้ามาปรากฎกล่าวในหนังสือของเสนาบดีพม่าถวายสมเด็จพระสังฆราชว่า ให้เข้ามาสืบการพระสาสนา ด้วยได้ข่าวเล่าลือไปว่า การพระสาสนาในเมืองไทยเจริญรุ่งเรืองมาก ความข้อนี้เห็นจะเปนมูลเหตุที่จริงส่วนหนึ่ง กิติศัพท์ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสามารถรอบรู้พระไตรปิฎก แลได้ทรงสอบ