หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๕๕) - ๒๔๗๓.pdf/26

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๓

ไม่ให้เข้าในที่เฝ้า หรือแม้แต่เป็นล่ามเมื่อทูตไปหาเสนาบดีผู้ใหญ่ ฝ่ายข้างครอเฟิดก็โกรธหาว่ากีดกันห้ามปรามล่ามซึ่งตัวไว้ใจ ฝ่ายล่ามของไทยเล่า ล่ามที่สำหรับแปลภาษาโปรตุเกตก็ใช้พวกกะฎีจีน ที่แปลภาษามะลายูใช้แขกคน ๑ ชื่อ นะกุด่าอลี ได้เป็นที่หลวงโกชาอิศหากอยู่ในเวลานั้น ล่ามข้างฝ่ายไทย ทั้งล่ามฝรั่งและล่ามแขก ต่างคนต่างไปนินทากันให้ครอเฟิดฟัง ใช่แต่เท่านั้น ต่างคนต่างชิงกันเอาหน้าในทางที่จะเรียกร้องเอาของกำนัลจากครอเฟิด ทำให้ครอเฟิดเกิดดูหมิ่นขึ้นมาถึงผู้ใหญ่ฝ่ายไทยว่ามีแต่โลภ

ที่มาร์ควิสเหสติงส์เลือกให้ครอเฟิดเป็นทูตเข้ามา เพราะเห็นว่าเป็นผู้สันทัดอย่างธรรมเนียมทางประเทศเหล่านี้นั้น ที่จริงตั้งใจดี ดังจะพึงแลเห็นได้ในหนังสือคำสั่งที่ให้แก่ครอเฟิด[1] แต่ความชำนาญของครอเฟิดนั้นไม่เป็นไปแต่ในทางข้างดี เพราะคุ้นเคยแต่กับพวกชะวามะลายูอันเคยอยู่ในอำนาจฝรั่งมาแต่ก่อน ถือใจมาเสียแล้วว่า ไทยก็เป็นชาวตะวันออกเหมือนกับพวกชะวามะลายู ไม่ผิดอะไรกับคนพวกนั้น ผิดกันแต่ที่ไม่อยู่ในอำนาจ เมื่อเห็นไทยไม่ยำเกรงครอเฟิดเหมือนพวกชะวามะลายู ก็ยิ่งทำให้ไม่ชอบหนักขึ้น

ข้อที่ครอเฟิดไม่ชอบไทย เห็นจะเริ่มตั้งแต่มาถึงเกาะหมาก เพราะประจวบเวลากองทัพไทยลงไปตีได้เมืองไทรบุรี และชาวเกาะหมาก


  1. คำสั่งของมาร์ควิสเหสติงส์พิมพ์ไว้ข้างท้ายเล่ม ๒ ของ สมุดที่ครอเฟิดแต่ง ข้าพเจ้าได้คัดแต่ใจความลงไว้ในตอนว่าด้วยเหตุที่อังกฤษจะแต่งทูตนั้นแล้ว.