หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๕๕) - ๒๔๗๓.pdf/8

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ตามความอันปรากฏในหนังสือคำสั่งของผู้สำเร็จราชการอินเดียอังกฤษซึ่งสั่งครอเฟิดเป็นลายลักษณอักษรมาในครั้งนั้น อังกฤษเข้าใจอยู่แล้วว่า การต่าง ๆ ที่อังกฤษมาขอจะไม่สำเร็จได้ดังประสงค์โดยง่าย ด้วยแต่ก่อนมาฝรั่งต่างชาติออกมาค้าขายทางประเทศตะวันออกนี้ คือพวกโปรตุเกตเป็นต้น ได้เคยมาคดโกงเบียดเบียฬชนชาติที่เป็นเจ้าของเมืองอันมีกำลังน้อยกว่าไว้เสียมากกว่ามาก จนความรังเกียจเกลียดชังฝรั่งมีแก่บรรดาชาวประเทศทางตะวันออกนี้ทั่วไปตลอดจนเมืองจีนและญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ คำสั่งที่ครอเฟิดได้รับมาให้พูดจาด้วยเรื่องการค้าขายครั้งนั้น รัฐบาลถึงกำชับไม่ให้มาขอที่ดิน แม้แต่เพียงที่ตั้งสถานีการค้าขายก็ไม่ให้ขอ ด้วยเกรงเจ้าเมืองจะเกิดความสงสัยว่าจะมาตั้งป้อมปราการอย่างฝรั่งเคยทำมาแต่ก่อน ส่วนการที่จะขอร้องให้แก้ไขลดหย่อนภาษีอากรนั้น ถ้าได้ก็เป็นการดี ถ้าไม่ได้ตามประสงค์ ก็ให้ทูตมุ่งหมายเพียงแต่ทำความคุ้นเคยเป็นไมตรีกันไว้ในระวาง ๒ รัฐบาล พอมีเหตุการณ์อย่างใดให้มีหนังสือไปมาพูดจาถึงกันได้ และให้คิดอ่านขอหนังสืออนุญาตของรัฐบาล ไทยและญวนให้พวกลูกค้าอังกฤษไปมาค้าขายได้โดยสะดวก ถ้าในชั้นต้นได้เพียงเท่านี้ก่อนก็เป็นพอแก่ความประสงค์ ไว้เมื่อการค้าขายติดต่อกันเข้าจนเกิดผลประโยชน์แลเห็นด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่ายแล้ว จึงคิดการอย่างอื่น เช่นทำหนังสือสัญญาเป็นต้น ต่อไป

ส่วนเรื่องทำแผนที่นั้น รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียก็แคลงอยู่แล้วว่าบางทีไทยจะรังเกียจ จึงได้มีข้อกำชับในคำสั่งว่า ให้ระวังอย่าให้รัฐบาลเจ้าของเมืองสงสัยว่ามาทำแผนที่เพื่อความคิดร้าย ส่วนเรื่องเมืองไทรบุรี