หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๖๑) - ๒๔๗๙.pdf/12

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ตอนต้นของพงศาวดารและตำนานต่าง ๆ ของเก่า มักเป็นเรื่องเกี่ยวไปในทำนองนิยายนิทานไม่น่าเชื่อ เป็นการยากที่จะถือเอาเป็นหลักฐานได้แน่นอน ศักราชก็ดี ชื่อบุคคลและชื่อภูมิประเทศบ้านเมืองก็ดี ก็มักมีต่างๆ ไม่ตรงกัน ชื่อบุคคลคนเดียวกันก็อาจมีหลายชื่อ บางทีเรื่องก็สับตอนกัน แต่เรื่องอย่างนี้มีความเป็นธรรมดา มีอยู่ทั่วไปทุกประเทศ เพราะเป็นเรื่องดึกดำบรรพ์นมนาน ได้อาศัยสืบต่อปากกันมาตามที่มีเล่ากันอยู่ในพื้นเมือง ธรรมดาว่าเรื่องราวที่สืบต่อปากกันมาในหมู่มนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด โดยมากย่อมจะมีมูลแห่งความจริงปนอยู่เสมอ เรื่องชะนิดนี้จึงอาจแบ่งได้เป็นสองส่วน คือส่วนหนึ่งมีความจริงเป็นพงศาวดาร อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องปรัมปราที่เกิดจากความคิดนึกของมนุษย์ เรื่องทั้งสองชนิดนี้ย่อมมีประโยชน์ด้วยกัน แต่เป็นคนละทาง เรื่องเหล่านี้บางทีอาจรักษาเอาความทรงจำแต่ครั้งสมัยดึกดำบรรพ์ไว้ได้ต่อมา บางทีเรื่องราวที่จำไว้ได้มีอยู่ในประเทศถิ่นต่าง ๆ เป็นเรื่องราวอย่างเดียวกัน ก็อาจสืบสาวราวเรื่องถึงทางติดต่อกันแห่งประเทศถิ่นเหล่านั้นได้ ข้อลำบากยากยิ่งก็อยู่ที่รู้จักแยกเอาความจริงในเรื่องออกมาเรื่องที่คิดนึกอันไม่เป็นความจริงเท่านั้น หาใช่ว่าเรื่องทั้งหมดเหลวใหลไม่มีประโยชน์เสียทีเดียว เพราะฉะนั้น หน้าที่ของผู้อ่านผู้ศึกษาจึงไม่ใช่อยู่ที่อ่านข้อค่อนขอดคอยจับผิด แต่อยู่ที่จะค้นคว้าหาความจริงที่มีอยู่ในเรื่องว่าจะได้มาเป็นประโยชน์มากหรือน้อยเท่านั้น เมื่อทราบความสำคัญดังกล่าวนี้แล้ว การอ่าน