หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๖) - ๒๔๖๐.pdf/75

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๖๘

เมื่อใด ก็จะยกกลับไป อย่างเดียวกับที่พม่าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ที่กล่าวมาแล้วในสงครามคราวที่ ๒๓ ครั้นเห็นทำการได้สดวก ด้วยไทยอ่อนแอเสียเต็มที พม่าได้ใจ จึงเลยเข้าตีเอาราชธานี

พม่ายกมาคราวหลังนี้จัดเปน ๒ กองทัพ กองทัพข้างใต้ให้มังมหานรธายกเปนแม่ทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ กองทัพข้างเหนือให้เนเมียวสีหบดี (ในพระราชพงษาวดารเรียกว่า เนเมียวมหาเสนาบดี) ซึ่งเปนแม่ทัพ ยกไปปราบปรามเมืองเชียงใหม่แลเมืองหลวงพระบางได้ราบคาบแล้วนั้น ยกลงมาทางข้างเหนืออิกทาง ๑ ตามรายการที่ปรากฎในหนังสือต่าง ๆ สอบสวนได้ความว่า ทั้งมังมหานรธาแลเนเมียวสีหบดีให้กองทัพน่ามีจำนวนพลฝ่ายละ ๕,๐๐๐ ยกเข้ามาในแดนไทยเมื่อเดือน ๗ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๒๗ พ,ศ, ๒๓๐๘

วิธีพม่ายกเข้ามาครั้งนั้นปรากฎในพงษาวดารพม่าว่า กำหนดเปนอุบายไว้อย่าง ๑ คือ ถ้าเมืองไหนหรือแม้แต่ตำบลบ้านไหนต่อสู้ พม่าตีได้แล้ว เก็บริบทรัพย์สมบัติเอาจนหมด ผู้คนก็จับเปนเชลยส่งไปเมืองพม่า แล้วให้เผาบ้านช่องเสียไม่ให้เหลือ ถ้าบ้านไหนเมืองไหนเข้าอ่อนน้อมต่อพม่าโดยดี พม่าให้กระทำสัตย์แล้ว ไม่ปล้นสดมภ์เก็บริบทรัพย์สมบัติ เปนแต่เรียกเอาเสบียงอาหารผู้คนพาหนะมาใช้สรอยการทัพตามแต่จะต้องการ ด้วยเหตุนี้ ตามหัวเมืองรายทางที่พม่ายกผ่านเข้ามา ปรากฎในพงษาวดารพม่าว่า บางแห่งก็สู้รบ บางแห่งก็เข้า