หน้า:ประวัติฯ ศรีสุริยวงศฯ - ดำรง - ๒๔๗๒.pdf/18

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๑

เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นแม่ทัพใหญ่ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ เมื่อเป็นที่จมื่นวัยวรนาถ เป็นนายทัพหน้า ยกลงไปตีเมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน) แต่ไปทำการไม่สำเร็จดังพระราชประสงค์ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเพิ่มสร้อยนามพระราชทานว่า "จมื่นวัยวรนาถภักดีศรีสุริยวงศ"[1] จะเป็นด้วยทำความชอบพิเศษอย่างไรหาทราบไม่ แต่เมื่อพิเคราะห์ตามเหตุการณ์ในสมัยนั้น ก็พอจะสันนิษฐานเค้าเงื่อนได้ ด้วยบิดาของท่านได้เป็นตำแหน่งเสนาบดีกลาโหมกับกรมท่ารวมกัน ๒ กระทรวงมาหลายปี เมื่อจับแก่ชรา และมีการเกี่ยวข้องกับฝรั่งมากขึ้น ตัวท่านไม่สันทัดการฝรั่ง ก็เป็นธรรมดาที่จะปรึกษาหารือบุตรซึ่งได้ศึกษาการนั้นช่วยปลดเปลื้องกิจธุระในตำแหน่ง ได้ช่วยราชการต่างหูต่างตามากขึ้น ก็เป็นโอกาสที่จะให้ปรากฏคุณวุฒิแก่พระญาณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยิ่งขึ้นเป็นอันดับมา ข้อนี้พึงเห็นได้ในหนังสือจดหมายเหตุ เรื่อง เซอเชมสบรุก ทูตอังกฤษ เข้ามาขอแก้หนังสือสัญญาเมื่อเดือน ๙ ปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ เป็นเวลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเริ่มทรงประชวรในคราวที่จะเสด็จสวรรคต เสด็จออกว่าราชการไม่ได้ เพราะทรงพระวิตกว่า การครั้งนี้ผิดกับครั้งครอเฟอรดเป็นทูตมาในรัชชกาลที่ ๒ และเฮนรีเบอร์นีเป็นทูตมาเมื่อต้นรัชชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นแต่ทูตของบริษัทอังกฤษที่ปกครองหัวเมืองในอินเดีย เซอร์เชมสบรุกเป็นทูตมาจากรัฐบาลอังกฤษ มีศุภอักษรของลอร์ดปาลเมอสตอน อัครมหา


  1. นามนี้ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุครั้งเซอเชมสบรุกเป็นทูตอังกฤษเข้ามาเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓