หน้า:ปวศ กม ไทย - มธ - ๒๔๘๓.djvu/14

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
8
ข้อความทั่วไป

กันของครอบครัว เห็นได้จากการที่กฎหมายประเพณีไม่ยอมให้ตกเป็นของผู้ที่ไม่เป็นญาติ ถ้าเจ้าของจะขายที่ กฎหมายบังคับให้เสนอต่อผู้เป็นทายาทก่อน ถ้าทายาทไม่ยอมซื้อ จึงขายให้แก่ผู้อื่นได้ (มาตรา ๘๖) แต่ในประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นที่ทราบอยู่แล้วว่า ระบอบที่ดินผิดแผกจากนี้มาก โดยพระมหากษัตริย์ถือพระองค์ว่าเป็นเจ้าของที่ดิน ราษฎรเป็นแต่ผู้อาศัย ไม่มีสิทธิซื้อขายกันได้ ฯลฯ แม้กฎหมายเขมรในโบราณกาลเท่าที่ค้นคว้าหาได้ ดูเหมือนว่าไม่มีอิทธิพลเหนือกฎหมายไทยเลย โดยมหากษัตริย์ไม่เข้าแทรกแซงกับกรรมสิทธิของผู้เป็นเจ้าของ ตามศิลาจารึกของสมเด็จพระเจ้าสูริยวรรมันที่ ๑ ลงปีศก ๙๒๘ คือปี พ.ศ. ๑๕๔๙ ได้ความว่า เมื่อมีผู้มาขอรับพระราชทานที่ดิน ตามระเบียบมีการไต่สวนเพื่อทราบว่า ที่ ๆ ขอพระราชทานนั้นมีเจ้าของหรือไม่ ถ้ามีเจ้าของแล้ว ไม่พระราชทาน ซึ่งส่อให้เห็นชัดว่า มหากษัตริย์เขมรรับรองสิทธิของราษฎรในที่ดิน ฉะนั้น กฎหมายที่ดินในประเทศไทยมีลักษณะพิเศษ ไม่ค่อยรับเอาสิ่งอันใดจมาจากประเทศชาติอื่น แม้เป็นประเทศที่โดยปกติมีอิทธิพลสำหรับกฎหมายแผนกอื่น[1] คงเกี่ยวเกาะยึดมั่นในระบอบที่ดินเดิมอันเป็นขนบธรรมเนียมของชาติ ฉะนั้น ก่อนที่จะศึกษากฎหมายที่ดินในสมัยกรุงศรีอยุธยา เห็นว่า ควรอธิบายโดยสังเขปถึงลักษณะระบอบที่ดินในชุมนุมชนเชื้อชาติไทยที่ตั้งถิ่นถานอยู่นอกลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเสียก่อน


  1. แต่อย่าพึงเข้าใจว่า ระบอบที่ดินเช่นนี้เป็นของชุมนุมชนชาติไทยโดยเฉภาะ ไม่มีที่อื่น ความจริงในอดีตกาลชุมนุมชนในยุโรปบางแห่งเคยมีระบอบที่ดินอันคล้ายคลึงกันกับระบอบที่ดินของไทย แม้ในสมัยปัจจุบันมีชุมนุมชนในทวีปอาฟริกากลาง เช่น ประเทศอูคันดา ที่ระบอบที่ดินมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับระบอบของไทยจนเป็นที่น่าพิศวง.
ม.ธ.ก.