หน้า:ปวศ กม ไทย - มธ - ๒๔๘๓.djvu/23

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
17
ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

8.สรุปความว่า ตามขนบธรรมเนียมประเพณีของบรรดาชุมชนชาติเชื้อไทยที่ตั้งถิ่นฐานอยู่นอกประเทศไทยนั้นถือว่า ระบอบที่ดินมีลักษณะสำคัญเหมือนกันทุกหมู่ กล่าวคือ ผู้เป็นประมุขเป็นเจ้าของที่ดินที่อยู่ในบังคับ กรรมสิทธินี้ประมุขได้มาทางการรบชะนะ จึงเกี่ยวข้องกับอำนาจของผู้เป็นประมุขโดยตรง และความจริงก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอำนาจเหนือที่ดินนั้นเอง ฉะนั้น ประมุขไม่ใช้สิทธิอันมีอยู่เหนือที่ดินเหมือนเจ้าของธรรมดา ยกเว้นแต่เขตต์ที่ดินที่ประมุขเลือกเอาเป็นของส่วนตัวแล้ว ผู้เป็นประมุขไม่ทำประโยชน์เอง แต่ปล่อยให้ราษฎรเข้าแสวงหาประโยชน์เพื่อเป็นการตอบแทนแรงงานที่ต้องเสียไปในราชการ หรือเป็นรางวัลของแรงงานที่ได้เสียไปแล้ว ฉะนั้น ผู้เป็นประมุขจึงแบ่งปันที่ดินที่ใช้ในการเพาะปลูกได้ในระหว่างพวกญาติที่รักใคร่และขุนนาง เป็นเนื้อที่มากหรือน้อยสุดแต่ตามยศและตำแหน่งของผู้จะได้รับ ส่วนประชาชนสามัญได้รับแบ่งที่ดินส่วนหนึ่งเพื่อทำการหาเลี้ยงชีพตนและครอบครัว การแบ่งปันให้ทั้งหลายนี้เป็นการชั่วคราว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงยศและตำแหน่งข้าราชการและตามทะเบียนสำมโนครัวจึงต้องมีการแบ่งปันกันบ่อย ๆ หรือตามระยะเวลากำหนด.

ได้เห็นมาแล้วว่า ในสมัยปัจจุบัน ระบอบที่ดินนี้ไม่ค่อยจะปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด เป็นแต่ยังถือกันอยู่บ้าง ทั้งนี้ เป็นที่เข้าใจได้ง่าย คือ เมื่อการตีได้และเข้าครอบครองอาณาเขตต์ที่ดินได้ล่วงมาเป็นเวลานานเข้าแล้ว ราษฎรก็มีความเคยชินกับดินแดนที่เข้ามาตั้งอยู่ จึงประสงค์

ม.ธ.ก.