ปี พ.ศ. ๑๙๐๓ เป็นปีกุนจริง บทกฎหมายนี้จึงเปนบทอันเก่าแก่มาก โดยตราขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ผู้สร้างกรุงศรีอยุธยานั้นเอง แต่ไม่ควรถือว่า ปี พ.ศ. ๑๙๐๓ นั้นเป็นปีที่ตราบทมาตราอันรวมอยู่ในตอนที่ ๒ นั้นทุกมาตรา กฎหมายที่ดินย่อมจะไม่ได้ตราขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทั้งมวล คงจะได้มีพระราชกำหนดออกเพิ่มเติมขึ้นเป็นลำดับในกาลต่อมา เมื่อมีการชำระกฎหมาย ผู้ชำระย่อเนื้อความในพระราชกำหนดนั้น และจัดเป็นมาตรา แล้วมาแซกแซงเพิ่มเติมบทมาตราเดิม ตามวิธีซึ่งได้พรรณาไว้ในคำสอนปี ๒๔๗๗ ฉะเพาะกฎหมายลักษณะที่ดินเรามีหลักฐานแน่นอนที่ทำให้ยืนยันได้ว่า่ มีการเพิ่มมาตราขึ้นในสมัยอันไม่สู้เก่านัก ดังจะเห็นได้ในต่อไปว่า การออกโฉนดให้แก่ผู้ขอจับจองที่ดินเพิ่งมีขึ้นในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกษ ฉะนั้น มาตราซึ่งกล่าวถึงโฉนดนี้ ถึงแม้ว่าจะได้จัดอยู่ในตอนบทกฎหมายอันลงปี ๑๙๐๓ นั้นก็ดี แต่คงจะได้ตราขึ้นภายหลังมาก คือ ในตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาลงมา บทกฎหมายที่ดินอันมีอยู่ในพะอัยยการเบ็ดเสร็จจึงเหมือนกันกับบทกฎหมายลักษณะอื่น คือ เป็นบทกฎหมายอันตราขึ้นในแผ่นดินต่าง ๆ เก่าบ้างใหม่บ้าง และการที่จัดเข้าอยู่ด้วยกันนี้ ก็เพราะเหตุว่าเป็นเนื้อความเกี่ยวกับลักษณะมูลคดีวิวาทอันเดียวกัน นักประวัติศาสตร์จึงควรใช้ความระมัดระวังก่อนที่จะยืนยันว่า บทนี้ตราขึ้นในปีนั้น หรือตราขึ้นก่อนหลังกันเปนลำดับ อย่างไรก็ดี เปนโชคดีแก่เราที่บทกฎหมายอันสำคัญที่สุดในการค้นคว้าเรื่องระบอบที่ดินนั้นมีปีปรากฎแน่นอนอยู่บทหนึ่ง คือบทอันติดต่อกันกับพระราชปรารภลงปีกุน ๑๙๐๓ นั้นเอง.
หน้า:ปวศ กม ไทย - มธ - ๒๔๘๓.djvu/27
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
21
ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
ม.ธ.ก.