หน้า:ปวศ กม ไทย - มธ - ๒๔๘๓.djvu/30

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
24
ระบอบที่ดิน

ใช่ที่ราษฎร อย่าให้ซื้อขายแก่กัน" ดังนี้ ที่ดินที่อยู่ภายในอาณาเขตต์กรุงศรีอยุธยาจึงเป็นของพระมหากษัตริย์ทั้งหมด พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะจำหน่ายได้แต่ผู้เดียว[1]

หลักนี้หนังสือเก่าที่เกี่ยวกับนีติศาสตร์รับรองด้วย เช่น คำภีร์ไตรโลกวินิจฉัยกล่าวว่า พระมหาสมมุติราชผู้เป็นปฐมบรมมหากษัตริย์ได้รับพระนามว่า ขัตติย หรือ กษัตริย์ เพราะเป็นเจ้าของเขตต์ คือ ที่น้ำและที่แดนดินทั่วไปในพระราชอาณาจักร์[2]

ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาคงถือกันว่า พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของอาณาเขตต์ จนถึงกระทั่งสมัยปัจจุบันก็ยังถือกันอยู่บ้าง ดังจะเห็นในต่อไป ลาลูแบร์ที่เขียนเรื่องในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ว่า "กรรมสิทธิ์ (la pleine propiété) ในที่ดินนั้นคงไว้แก่พระมหากษัตริย์เสมอ และพระมหากษัตริย์อาจเรียกที่ดินคืนได้ตามพระทัยทุกขณะ แม้ที่ ๆ ได้โปรดขายให้แก่ราษฎรก็เคยเรียกคืนบ่อย ๆ โดยมิได้คืนราคาก็มี"[3] ฝ่ายกรมหลวงราชบุรีฯ ก็ทรงบรรยายคำสอนตามนัยเดียวกันว่า "ที่ดินทั้งหมดเป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หาได้ทรงเป็นเจ้าชีวิตร์อย่างเดียวไม่ ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วย" โดย


  1. กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงอธิบายคำว่า "ที่ในแว่นแคว้นกรุงเทพ ฯลฯ" ตามทำนองเดียวกันนี้ คือ ให้กินความถึงที่ดินในพระราชอาณาจักร ไม่ฉะเพาะแต่เขตต์ที่ดินแก่กรุงศรีอยุธยาโดยตรง แต่ดูเหมือนว่า ไม่กินความถึงอาณาเขตต์ของประเทศราช เช่น เมืองสุโขทัย ประเทศราชนี้เมื่อยอมอ่อนน้อมต่อกรุงศรีอยุธยาแล้วยังถือลัทธิธรรมเนียมระบอบที่ดินของตนต่อไปเช่นเดิม
  2. ความจริงคำว่า กษัตริย์ นี้มาจากคำสันสกฤต กฺษตรํ อันหมายความว่า อำนาจอธิปตัย หรือฤทธิ กษัตริย์จึงเดิมแปลว่า ผู้มีอำนาจศักดิสิทธิ์
  3. Du Royaume de Siam เล่ม ๑ หน้า ๑๖๐
ม.ธ.ก.