หน้า:ปัญญาส (๑๔) - ๒๔๗๐.pdf/4

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เหลืออยู่ คำที่ติว่า แต่งปลอมพระพุทธวัจนะนั้น เพราะพระเจ้าแผ่นดินพม่าองค์นั้นหลงเชื่อว่า หนังสือนิบาตชาดก หรือที่เราเรียกกันในภาษาไทยว่า “เรื่องพระเจ้าห้าร้อยห้าสิบชาติ” เปนพระพุทธวัจนะ ซึ่งที่แท้หาเปนเช่นนั้นไม่ ความจริงเปนดังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชวิจารณ์ไว้ในพระราชนิพนธ์คำนำหนังสือนิบาตชาดก ภาคต้น ซึ่งโปรดให้พิมพ์เมื่อในรัชชกาลที่ ๕ ว่า เรื่องนิบาตชาดกนั้นคงเปนนิทานที่เล่ากันในพื้นเมือง มีมาแต่ก่อนพุทธกาลช้านาน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ ทรงยกเอาเรื่องนิทานมาแสดงเปนอุปมาในพระธรรมเทศนาเนือง ๆ ก็ธรรมดาในเรื่องนิทานย่อมต้องมีตัวดีแลตัวชั่ว ตัวดีจะเปนคนก็ตาม จะเปนสัตว์เดียรัจฉานก็ตาม ย่อมเรียกว่า “มหาสัตว์” มาเกิดสมมตขึ้นต่อภายหลังพุทธกาลว่า มหาสัตว์ในเรื่องชาดกนั้นคือพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ ครั้นเมื่อมาตบแต่งร้อยกรองประไตรปิฎกกันในชั้นหลัง ๆ ผู้แต่งประสงค์จะปลูกศรัทธาให้มั่นคงตามความเชื่อถือของตน จึงแต่งประชุมชาดกประหนึ่งว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ชัดเจนว่า มหาสัตว์นั้น ๆ มาเกิดเปนพระพุทธองค์ แลบุคคลหรือสัตว์นั้น ๆ มาเปนผู้นั้นผู้นี้ในปัจจุบันชาติ รูปเรื่องชาดกจึงเปนเช่นปรากฎอยู่ในหนังสือนิบาตชาดก เพราะความเปนดังอธิบายมานี้ ที่พระสงฆ์ชาวเชียงใหม่เอานิทานในพื้นเมืองมาแต่งเปนชาดก เปนแต่แต่งตามแบบอย่างหนังสือเก่าซึ่งพระคันถรจนาจารย์ได้แต่งมาแต่ปางก่อน หาได้ตั้งใจจะหลอกลวงผู้หนึ่งผู้ใดว่าเปนพระพุทธวัจนะไม่ พระเจ้าแผ่นดินพม่าหากเข้าพระทัยหลงไปเอง