หน้า:พงศาวดาร (หัตถเลขา) - ๒๔๕๕ (๑).djvu/104

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๔๑

ทัพพระมหาธรรมราชาตั้งแห่งใดตำบลใด ให้ตีจงแตกแต่ในเพลาเดียว ถ้าล่วงราตรีไป จะเอาศีศะนายทัพนายกองเสียบแทนเชลย แลให้ทัพพระมหาอุปราชารั้งท้าย ถ้ามีทัพพระนครศรีอยุทธยาตาม ให้คิดทัพฬ่อทัพซุ่มหุ้มจับเอาตัวนายทัพนายกองให้ได้คนหนึ่งสองคน ถ้ามิได้ดังนี้ จะเอาพระมหาอุปราชาเปนโทษถึงสิ้นชีวิตร แลให้นายทัพนายกองจัดแจงให้พร้อม อิกสามวันจะเลิกทัพจากพระนครศรีอยุทธยา.

ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าแจ้งว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชายกกองทัพเมืองพระพิศณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองศุโขไทย เมืองพิไชย เมืองพิจิตร คนห้าหมื่น มาตั้งไชยนาทบุรี ทัพน่ามาตั้งเมืองอินทบุรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดีพระไทยนัก ก็ตรัศแก่มุขมนตรีว่า ถ้าสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีรู้ว่า ทัพพระมหาธรรมราชายกมา เห็นไม่อยู่ช้า ดีร้ายจะเลิกไป ถ้าไปทางเหนือ สมคเนเรา จะได้กระทบหลังซ้ำเติมถนัด เกลือกจะหลีกไปทางสุพรรณบุรี จะสลักซ้ำเติมไม่เต็มที่ พระสุนทรสงครามทูลว่า อันสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีประกอบด้วยกำลัง ๓ ประการ คือ กำลังความคิด ๑ รี้พลมาก ๑ มีทหารกล้าแขง ๑ เห็นไม่ไปทางสุพรรณกาญจนบุรี ด้วยเหตุว่า เปนต้นทางมา เสบียงอาหารยับเยินเสียสิ้นแล้ว เห็นจะเดินทางเหนือหมายตีเอาเสบียงอาหารในกองทัพสมเด็จพระมหาธรรมราชานั้นอิก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เห็นด้วยจึงตรัศว่า ถ้าดังนั้น พระสุนทรสงครามสิเปนเจ้าเมืองสุพรรณบุรี ชัดเจนป่าทาง ให้คุมทัพ ๕๐๐๐ ลอบออกไปเพลาค่ำพรุ่งนี้ ให้ตั้งซุ่มสลักคอยโจมตีทัพพระเจ้าหงษาวดีให้ได้บำเหน็จมือมา ถ้ามิได้สลักสำคัญมา จะเอาตัวเปนโทษ พระสุนทรสงครามก็รับพระราชโองการถวาย