หน้า:พงศาวดาร (หัตถเลขา) - ๒๔๕๕ (๑).djvu/189

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๒๖

ประเทศนั้นมาหลั่งน้ำสัตโยทก จึงท้าวพระยาเสนาบดีแลพราหมณาจารย์ทั้งสองฝ่ายก็ชุมนุมกันในท้ายสระเกษ ก็แต่งการที่จะหลั่งน้ำสัตโยทกในที่นั้น ถึงณวัน ๑๒ ค่ำ ประกอบด้วยศุภฤกษ์ จึงฝังสีมาจาฤกสัตยาธิษฐานลงในศิลาบาตร แล้วก็หลั่งน้ำสัตโยทกเหนือพื้นมหาปัถพีเปนสักขีทิพพยาน เพื่อจะให้พระราชไมตรีสีมามณฑลทั้งสองฝ่ายมั่นคงตรงเท่ากัลปาวสาน แล้วก็ให้อุปสมบทกรรมภิกษุ ๖ รูปในที่นั้น.

ขณะเมื่อพระเจ้าเชียงใหม่เลิกทัพขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีแจ้งก็ทรงพระโกรธว่า พระเจ้าเชียงใหม่มิได้ยกลงไปโดยกำหนด จึงไม่ทันกองทัพพระยาพสิม ๆ จึงเสียทีแก่ข้าศึก ครั้นจุลศักราช ๙๓๐ ปีมโรง สำเรทธิศก พระเจ้าหงษาวดีดำรัศให้พระยาอภัยคามินี กับซักแซกยอถ่าง สมิงโยคราช ๓ นาย ไปกำกับทัพเชียงใหม่ให้เร่งยกลงไปตีเอาพระนครศรีอยุทธยาให้ได้ พระเจ้าเชียงใหม่แจ้งพระราชกำหนด ก็จัดช้างม้ารี้พลทัพบกทัพเรือพร้อมด้วยเครื่องสาตราวุธ ให้พระยาเชียงแสนถือพลหมื่นห้าพัน ช้างเครื่องร้อยห้าสิบ ม้าพันหนึ่ง เปนทัพน่า ครั้นเดือนสิบสอง ก็ยกจากเมืองเชียงใหม่มาโดยทางเมืองลี่ แลทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกมาคราวนั้นพลแสนหนึ่ง ช้างเครื่องสามร้อย ม้าสามพัน เรือรบเรือลำเลียงพันลำ แล้วเคลื่อนทัพบกทัพเรือลงมาตั้งชุมนุมพลณเมืองนครสวรรค์ในวัน ค่ำ ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทราบข่าวศึกยกมาดังนั้น ก็ดำรัศให้ถ่ายเข้าเทครัวเข้าในพระนคร แล้วให้จัดตรวจรี้พลแลเครื่องสรรพยุทธไว้สำหรับน่าที่กำแพงรอบพระนคร แล้วจึงมีพระราชกำหนดให้นายทหารอาสาทั้งปวงคุมพลเปนหลายกองยกออกไปซ่องคนซึ่งซ่านเซ็นอยู่ป่า