หน้า:พงศาวดาร (หัตถเลขา) - ๒๔๕๕ (๑).djvu/245

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๘๒

พระไทย เสด็จพระราชดำเนินยกเข้ามาตั้งน่าเมืองโพธิสัตว ฝ่ายพระราชมนูนายทัพนายกองเข้ามาเฝ้าพระบาทยุคลถวายช้างม้าเครื่องสาตราวุธแลเขมรเชลยทั้งปวง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการสั่งให้พระยาปราจิณกับพล ๓๐๐๐ ตั้งอยู่เก็บรวมเสบียงอาหารณเมืองโพธิสัตว แล้วตรัศปฤกษาราชการแก่สมเด็จพระอนุชาธิราชว่า เมืองโพธิสัตวปัตบองเราก็ได้แล้ว แต่เมืองบริบูรณนั้นพระยาแลวกให้น้องออกมาตั้งรับ รี้พลก็มาก เห็นจะพร้อมสามประการ ทั้งอาชญาก็จะกล้า ทหารก็จะแขงมือ เครื่องสาตราวุธก็จะพร้อม ถึงกระนั้นก็ดี อุปมาเหมือนพระยานาคราช ถึงแม้นมาทมีเดชานุภาพมากก็ดี ฤๅจะอาจมาทานกำลังพระยาครุธได้ เราจะหักเอาให้ได้แต่ในพริบตาเดียว ตรัศเท่าดังนั้นแล้วก็สั่งให้ทัพน่าเร่งยกล่วงเข้าไป อย่าให้พลทหารคั่งกัน ครั้นเพลาตีสามยาม ได้เพ็ชรฤกษ์ พระจันทรทรงกรดส่องสว่าง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงเครื่องสำหรับพิไชยยุทธเสร็จ ก็เสด็จยกพยุหโยธาทัพจากเมืองโพธิสัตวไปเมืองบริบูรณ.

ฝ่ายพระยาสวรรคโลกแลนายทัพนายกองซึ่งแตกมานั้นก็ไปเมืองบริบูรณเข้าเฝ้าพระศรีสุพรรณมาธิราชทูลแจ้งข้อราชการซึ่งได้รบเสียแก่ข้าศึกทุกสิ่งทุกประการ พระศรีสุพรรณมาธิราชได้แจ้งดังนั้นก็ตกพระไทย จึงแต่งกองตระเวนเปนเสือป่าผลัดเปลี่ยนกันออกไปลาดคอยดูข้าศึกทั้งหลาย ให้จุดเผาเข้าต้นในท้องนาเสีย แล้วบอกข้อราชการเข้าไปณกรุงกัมพูชาธิบดี ฝ่ายพระยาแลวกแจ้งว่า เมืองโพธิสัตว ปัตบอง เสียแก่ข้าศึกแล้ว ก็เสียพระไทย จึงสั่งให้พระยาราชนเรศคุมพลหมื่นหนึ่งยกไปช่วยเมืองบริบูรณ.