หน้า:พงศาวดาร (หัตถเลขา) - ๒๔๕๕ (๑).djvu/25

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๗

ประกอบกับหนังสือพระราชพงษาวดารที่มีอยู่ทุก ๆ ฉบับ เห็นว่า น่าจะลงเนื้อเห็นได้อยู่.

การแต่งหนังสือพระราชพงษาวดารที่กล่าวในที่นี้ต้องแยกเปน ๒ อย่าง เรียกว่า แต่ง คือ เอาเรื่องที่มีอยู่แล้วมาเรียบเรียงใหม่ทีเดียวก็ดี หรือพระราชพงษาวดารเดิมมีเรื่องแล้วเพียงใด มาแต่งเรื่องต่อตอนนั้นลงมาก็ดี ทำอย่างนี้เรียกว่า แต่ง อิกอย่างหนึ่งเรียกว่า ชำระ หมายความว่า เอาหนังสือพระราชพงษาวดารที่มีอยู่แล้วมาตรวจแก้ไขถ้อยคำหรือแทรกข้อความลงในที่บางแห่ง อย่างนี้เรียกว่า ชำระ การชำระหนังสือพระราชพงษาวดารในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้มีหลักฐานรู้ได้ว่า ได้ชำระในรัชกาลที่ ๑ ครั้ง ๑ ในรัชกาลที่ ๔ ครั้ง ๑ แลบางทีในรัชกาลที่ ๓ ก็จะได้ชำระอิกครั้ง ๑ แต่ก่อนกรุงรัตนโกสินทรขึ้นไปไม่มีหลักฐานที่จะรู้ จะวินิจฉัยในที่นี้เฉภาะการแต่งหนังสือพระราชพงษาวดารในครั้งกรุงเก่า เห็นว่า จะแต่งเปน ๒ ครั้ง ครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราช แต่งหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ เดินความย่อ ๆ อย่างเดียวกันลงมาจนรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ต่อมาแต่งอิกครั้ง ๑ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษ ให้แต่งพระราชพงษาวดารขึ้นใหม่เปนฉบับพิศดาร ตั้งความเริ่มแต่สร้างกรุงศรีอยุทธยา เห็นจะลงมาจบเพียงสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายน์มหาราช เหตุที่เห็นดังนี้แจ้งอยู่ในพระบรมราชาธิบายของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโดยมากแล้ว จะกล่าวเพิ่มเติมในที่นี้แต่ว่า ข้าพเจ้าไม่คิดเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าบรมโกษจะแต่งพระราชพงษาวดารมีเรื่องเดินลงมากว่านั้น เพราะในหนังสือพระ