หน้า:พงศาวดาร (หัตถเลขา) - ๒๔๕๕ (๑).djvu/296

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๓๓

ลำพูน กำหนดให้ลงไปเฝ้า ทรงพระกรุณาจะเอาท้าวพระยาลาวทั้งปวงสมัคสมานมอบให้ เหตุไฉนพระองค์จึงมิได้ลงไปเฝ้า แล้วลอบแต่งทัพม้าตีทัพพระรามเดโชอันจะลงไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทนั้นอิกเล่า พระองค์ทำดังนี้ควรอยู่แล้วฤๅ บัดนี้ พระเจ้าอยู่หัวขัดเคือง ให้เสนาพฤฒามาตย์ปฤกษา ๆ ให้เชิญเสด็จยกทัพหลวงกลับยังกรุงพระมหานคร แต่ทว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระอาไลยถึงพระองค์ว่า ถ้าทัพหลวงเสด็จกลับ เห็นว่า เมืองเชียงใหม่จะตั้งอยู่มิได้ เสียดายที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรมานพระองค์เสด็จมานั้น จึงให้ข้าพเจ้าเข้ามาทูล พระองค์อย่าได้วิตกเกรงขามท้าวพระยาลาวทั้งปวงเลย เปนภารธุระสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจะระงับการกลีให้สงบจงได้ พระไชยาธิปทูลชี้แจงพระเดชเดชานุภาพที่ท้าวพระยาลาวเกรงขามให้ฟังทุกประการ พระเจ้าเชียงใหม่ได้แจ้งดังนั้น มีความยินดีนัก ครั้นเพลารุ่งเช้า พระเจ้าเชียงใหม่ก็ยกช้างม้ารี้พลโดยสมควรลงมายังเมืองลำพูน เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทูลขอโทษที่มิได้ลงมาเฝ้าแลลอบทำร้ายพระรามเดโชทุกประการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงฟังพระเจ้าเชียงใหม่กราบทูล แย้มพระโอฐ แล้วมีพระราชโองการตรัศว่า ซึ่งพระเจ้าเชียงใหม่มิได้มาตามกำหนดนั้น เพราะท่านมิได้เชื่อพระบวรบุญญานุภาพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงผู้ทรงพระกฤษฎาภินิหารอันประเสริฐ ตรัศเท่าดังนั้นแล้ว ก็ให้หาท้าวพระยาลาวทั้งปวงเข้ามาเฝ้า จึงมีพระราชบริหารตรัศแก่พระยาน่าน พระยาฝาง แลท้าวพระยาแสนหลวงทั้งปวงว่า เมืองเชียงใหม่เปนเมืองกระษัตริย์สืบมาแต่บุราณราชประเพณี พระเจ้าเชียงใหม่เล่าก็เปน